พิสูจน์ข้อสงสัยวัตถุคล้ายน้ำมันดิบที่ชายฝั่งทะเลใต้
นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำกากของเสีย จับตัวเป็นก้อนลักษณะคล้ายยางมะตอย เข้าห้องแล็ป ตั้งในความร้อนอุณภูมิสูง 80 องศา เพื่อพิสูจน์ผล โดยพบวัตถุดังกล่าวละลายอยู่เหนือผิวน้ำ และระบุได้ทันว่า เป็นก้อนน้ำมันดิบชนิดหนัก ที่ใช้ในหัวขุดเจาะสำรวจน้ำมันกลางทะเล หลังถูกพบลอยมาติดชายหาด ตั้งแต่อำเภอระโนด มาจนถึงเขตอำเภอเมือง จ.สงขลา ในช่วงเดือนก.พ.และเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา
สำหรับ หน่วยเครื่องมือกลาง มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เคยทำหน้าที่ตรวจสอบปรากฏการณ์คราบน้ำมัน ที่ลอยมาติดชายหาด ให้กับเทศบาลนครสงขลา มาแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน จึงพิสูจน์ได้ไม่ยาก
แตกต่างการออกมายืนยันของ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์แล้ว ระบุ ก้อนกลมลักษณะเป็นทรายเหนียวสีน้ำตาล และมีคราบสีดำบนอยู่ คุณสมบัติทางเคมี ไม่ตรงกับน้ำมับดิบแต่อย่างใด องค์ประกอบส่วนใหญ่ เป็นเพียงไขมันพืช และสัตว์เท่านั้น
แม้ไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และบริษัทผู้รับสัมปทานแท่นจุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม กลางทะเลในจังหวัดสงขลา รับผิดชอบด้วยการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล ปีละ 1,500,000 บาท รวม 28 แห่ง ที่ตั้งอยู่แนวชายฝั่ง เงินส่วนหนึ่งจะถูกนำมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการว่าจ้าง ชาวบ้านให้เดินเก็บก้อนน้ำมัน วันละ 300 บาท ก่อนนำไปฝั่งกลบบริเวณหาดมหาราช
แต่กลับไม่มีหน่วยใดออกมาพูดถึงผลกระทบระยะยาวกับวิถีชีวิตชาวประมง
ปี 2546 กระทรวงพลังงาน อนุมัติให้ขุดเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม จี 5 /43 จนถึงขณะนี้ มีการขุดเจาะไปแล้ว 10 แท่น อยู่ระหว่างจัดทำรายงาน อีไอเอ อีก 3 แท่น หนึ่งในนั้นตั้งอยู่ห่างจากเกาะหนู เกาะแมว แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ไม่ถึง 30 กิโลเมตร