ภาคประชาสังคมค้านปอท.ตรวจสอบใช้
พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ยืนยันถึงการตรวจสอบโปรแกรมแชทออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย และทั่วโลกในขณะนี้
โดยระบุถึงการประสานขอความร่วมมือไปยังบริษัทผู้ให้บริการโปรแกรมไลน์ พร้อมระบุถึงขั้นตอนการตรวจสอบ ที่ ปอท.จะทำการตรวจสอบข้อมูลก่อน และจะประสานขอข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการขอความร่วมมือ ที่ไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล เพราะเป็นข้อมูลอยู่นอกราชอาณาจักร จากนั้นเซิร์ฟเวอร์จะให้ข้อมูลย้อนหลัง 90 วัน เฉพาะข้อมูลรายบุคคล ว่ามีการติดต่อกับผู้ใดบ้าง โดยจะไม่มีเนื้อหาของการสื่อสารกันผ่านโปรแกรม
สำหรับกรณีการประสานงานกับบริษัทผู้ให้บริการนั้น ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ได้ประสานไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของบริษัท ไลน์ คอร์เปอร์เรชั่น เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ซึ่งเบื้องต้น ได้รับการยืนยันกลับมาว่า ทาง LINE Corporation ยังไม่ได้รับคำขออย่างเป็นทางการจาก ปอท. ดังนั้นไลน์จึงยังคงไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ในประเด็นดังกล่าวได้ในตอนนี้ ทั้งนี้ไลน์ยังคงมีนโยบายหลักในการรักษาข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน และยังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล
แม้ผู้บังคับการปอท.จะยืนยันชัดเจนว่า การตรวจสอบจะเป็นไป เพื่อการติดตามตรวจสอบเฉพาะบุคคล ตามฐานข้อมูลกระทำความผิด ที่มีด้วยกัน 4 ข้อ คือการซื้อขายอาวุธ, ยาเสพติด, การค้าประเวณี และการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ทันทีที่มีรายงานเรื่องนี้ออกมา มีเสียงคัดค้านในการดำเนินการครั้งนี้มากมาย แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเอง ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินการดังกล่าว
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ปอท. ยังไม่ได้มีการประสานขอความร่วมมือใดๆ มายังกระทรวงไอซีที แต่เบื้องต้นยืนยันว่า กระทรวงไอซีทีและรัฐบาลไทยไม่เห็นด้วยและไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการใช้งานของประชาชนที่สื่อสารผ่านทางไลน์ได้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสารระหว่างกัน อีกทั้งทางกระทรวงยังเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใด
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า เจตนารมย์ของรัฐบาลไม่ต้องการเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแอพพลิเคชั่นดังกล่าว คงไม่ไปเกี่ยวข้องหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่หากจะติดตามตรวจสอบ จะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากกว่า
ด้านนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานต้องยึดโยงกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งการใช้อำนาจของ ปอท.ในการเข้าไปแทรกแซงโซเชียลมีเดียต้องแยกให้ออก เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิด โดยต้องยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ซึ่งให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การใช้อำนาจของ ปอท.แทรกแซงไลน์และโซเชียลมีเดีย อาจเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 36 ระบุให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร โดยที่รัฐจะไปรับรู้หรือแทรกแซงไม่ได้ ปอท.จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และต้องตีความเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐให้ชัดเจน รวมทั้งดูเจตนาและเนื้อหาด้วย
ขณะที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินการของ ปอท. พร้อมแสดงความห่วงใยในการดำเนินการ กรณีการขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่า อาจเข้าข่ายการละเมิดด้วยการดักฟังตามกฎหมายหรือไม่
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ ผู้ให้บริการการสื่อสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนตำรวจและรัฐบาลไทยต้องหยุดการกระทำที่ทำให้เกิดความกลัวในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งหยุดการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมากมาย