เปิดประวัติ Swiss Psalm เพลงชาติสวิตเซอร์เแลนด์ ก่อนทางการเปลี่ยนใช้เพลงใหม่
แม้เป็นเพลงที่ใช้เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติมาหลายทศวรรษ แต่ล่าสุดทางการสวิตเซอร์แลนด์กำลังมองหาผู้ที่จะมาแต่งเพลงชาติเพลงใหม่ เนื่องจากเพลงเดิมที่ใช้อยู่เน้นความเชื่อทางศาสนา และไม่สะท้อนความหลากหลายของคนในชาติ
น้ำตาแห่งความตื้นตันใจของ โรเจอร์ เฟเดอร์เรอร์ ระหว่างยืนเคารพเพลงชาติสวิสหลังชัยชนะในรายการโรลองด์ การ์รอสเมื่อปี 2009 แสดงถึงความผูกพันอย่างสุดซึ้งที่มีต่อ Swiss Psalm บทเพลงที่ถูกใช้เป็นเพลงชาติสวิตเซอร์แลนด์ถึงครึ่งศตวรรษ แต่วันนี้ทางการสวิสกำลังเปิดการประกวดเพื่อหาเพลงชาติเพลงใหม่ เนื่องจากมองว่า เพลงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเหมือนเพลงสวดมนต์มากกว่าจะเป็นเพลงชาติ
Swiss Psalm ประพันธ์ขึ้นตั้งแต่ปี 1841 ถูกนำไปใช้ร้องปลุกใจในพิธีการสำคัญบ่อยครั้ง จนได้รับเลือกให้เป็นเพลงชาติสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1981 แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เพลงที่เนื้อหาบรรยายถึงสายลมแสงแดดและสรรเสริญพระเจ้าของศาสนาคริสต์นี้ ถูกนักวิชาการวิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า เป็นเหมือนเพลงพยากรณ์อากาศในคัมภีร์ไบเบิลมากกว่าจะเป็นเพลงชาติ ซึ่งไม่เหมาะสมสำหรับชาติที่ประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ
Swiss Public Welfare Society หน่วยงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ ได้เปิดให้มีการประกวดการประพันธ์เพลงชาติสวิสขึ้นมาใหม่ โดยเนื้อหาเพลงใหม่ต้องสื่อถึงเอกลักษณ์ของความเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งคุณค่าด้านประชาธิปไตย, เสรีภาพ, ความสามัคคี และการเปิดกว้างต่อชาวโลก โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลหมื่นฟรังก์สวิสหรือประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งจุดประสงค์หลักคือการเปลี่ยนเนื้อเพลงของทำนองเดิมเท่านั้น แต่หากทำนองเพลงใหม่ดีพอ ก็อาจใช้ทำนองของเพลงใหม่เป็นเพลงชาติของสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2015 นี้
สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีภาษาราชการอยู่ 4 ภาษาคือฝรั่งเศส,เยอรมัน, อิตาเลียน และโรมานซ์ ไม่เคยมีเพลงชาติเป็นของตนเองกระทั้งศตวรรษที่ 19 โดยมี Rufst du, mein Vaterland เป็นเพลงชาติของสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 1850 แต่ถูกถอนจากการเป็นเพลงชาติเมื่อปี 1961 เนื่องจากมีทำนองเดียวกับเพลง God Save the Queen เพลงชาติของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการสร้างความสับสนเมื่อนำไปเปิดในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ