วงการภาพยนตร์ไทยขาดคนเขียนบทฝีมือดี
รายได้ประมาณ 51 ล้านบาทของ หนังตลกภาคต่อ แหยมยโสธร ภาค3 อาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนัก แต่นี่คือภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้อันดับสูงสุดในเวลานี้ รองจากพี่มากพระโขนง ที่ขึ้นแท่นอันดับ 1 จากรายได้เกือบ 600 ล้านบาท รายได้ภาพยนตร์ไทยผ่านมาเพียงครึ่งปีมีภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ทำรายได้เกิน 30 ล้านบาท คือ คู่กรรม ฉบับ ณเดช คูกิมิยะ และ ทองสุข13 หนังสยองขวัญหักมุม ซึ่งส่วนใหญ่แม้ได้รับคำชื่นชมในส่วนของงานสร้างและการถ่ายทำ แต่มักไม่ถูกใจผู้ชมและนักวิจารณ์ โดยเฉพาะบทภาพยนตร์ที่ไร้ความแปลกใหม่ รวมถึงไม่มีความกลมกลืนกันตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดนักเขียนบทมืออาชีพ ที่ถึงทุกวันนี้ยังเป็นที่ต้องการ
ภาพยนตร์หลายเรื่องแม้มีทุนสร้างไม่มากนัก แต่เน้นความสำคัญกับบทภาพยนตร์ ซึ่งพิสูจน์ถึงความคุ้มค่า เช่น แฟนฉัน ซึ่งพัฒนามาจากเรื่องสั้น "อยากบอกเธอรักครั้งแรก" ของ วิทยา ทองอยู่ยง เคยลบคำสบประมาทว่าภาพยนตร์เด็กไม่มีทางทำเงินได้ในเมืองไทย หรือสิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก ที่เปิดตัวในแบบภาพยนตร์ทุนต่ำแต่บทพูดที่คมคายและเรื่องราวที่เข้าถึงผู้ชมก็ทำให้เก็บรายได้ไปถึง 80 ล้านบาท คนเขียนบทมือดีจึงเป็นสิ่งที่คนในวงการภาพยนตร์กำลังต้องการ และมีเปิดโครงการอบรมคนเขียนบทภาพยนตร์ขึ้นจำนวนไม่น้อย
ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยประสบความสำเร็จไม่น้อยในตลาดต่างประเทศ หากยังไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การยอมรับเทียบเท่ากับภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาพร้อมกัน แต่ประสบความสำเร็จมากกว่าทั้งในแง่ของรายได้และรางวัลจากเวทีระดับโลก เพราะมีบทภาพยนตร์ที่หลากหลายกว่า การพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทยที่คนในวงการภาพยนตร์กำลังมองหาจึงต้องเริ่มจากกระดูกสันหลัง คือบทภาพยนตร์