เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ร้องให้ตรวจสอบกลยุทธธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ นักวิชาการ ตัวแทนนักศึกษา ร่วมเสวนาเรื่อง "ตรวจสอบการตลาดน้ำเมาในสปอร์ตมาเก็ตติ้ง" โดยหยิบยกกรณีการแข่งขันฟุตบอล ที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของไทย ทุ่มเงินกว่า 900 ล้านบาท นำทีมฟุตบอลระดับโลกมาแข่งขันนัดพิเศษในไทย เมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ บอกว่า ธุรกิจแอลกอฮอล์เน้นให้เด็กและเยาวชน จดจำภาพลักษณ์ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ด้วยการโฆษณา ลด แลก แจก แถม ทั้งนี้ก่อนการแข่งขันเครือข่ายฯ ได้จัดทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังการกีฬาแห่งประเทศไทยแล้ว แต่กลับไม่มีมาตรการตรวจจับหรือห้ามปราม
นางนิษฐา หรุ่นเกษม เครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มองว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นสร้างการรับรู้ในตัวผลิตภัณฑ์ โดยใช้กลยุทธการตลาด ผ่านคนดัง หรือ "เซเลบิตี้ มาร์เก็ตติ้ง" จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้บริโภค ที่มองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสินค้าอันตราย เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ในเวทีเสวนาฯ ยังระบุถึงข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสสุรา ที่อ้างอิงจากสถาบันการเงินระดับโลก พบว่า การลงทุนเป็นผู้สนับสนุนกีฬาของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะได้ผลตอบแทน 3 ดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย ที่พบกลยุทธไม่ต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อ พฤติกรรมเยาวชน และมีผลต่อบรรทัดฐานสังคม
สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และ เอแบคโพลล์ ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก เมื่อปี 2549 พบว่า เยาวชนวัย 13-24 ปี ถึงร้อยละ 80 อยากลองซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยี่ห้อที่สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอล และการให้ทุนสนับสนุนกีฬา ยังมีอิทธิพลต่อทัศนคติเชิงบวกของเด็ก ช่วงอายุ 9-14 ปี ทำให้มีความสัมพันธ์กับการเริ่มต้นดื่มของเด็กวัยรุ่นมากขึ้น