สืบทอดเจตนารมย์
ในวันที่ 1 กันยายน ที่เป็นวันครบรอบ 24 ปี ของ "สืบ นาคะเสถียร" ผู้ที่ได้เสียสละชีวิตเพื่อให้สังคมไทยรับรู้ปัญหาสถานการณ์ทำลายป่า ซึ่งผลงานแรกที่ทำให้ สืบ นาคะเสถียร เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือโครงการอพยพสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งในตอนนั้นถึงแม้ว่าเขาและลูกทีมจะสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้ไม่ถึง 10% ของสัตว์ทั้งหมดในพื้นที่ป่าบริเวณนั้น แต่ก็ได้ทำให้คนไทยทั้งประเทศเริ่มหันมาตระหนักถึงปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์กันมากขึ้น
ศิวกฤษฏ์ ศราวิช หรือ ไม้หลัก ช่างภาพอิสระ หนึ่งในผู้ที่เคยร่วมงานกับ "สืบ นาคะเสถียร" บอกเล่าความสำคัญของกล้องถ่ายรูป ที่ "สืบ นาคะเสถียร" มักใช้ถ่ายรูปสัตว์ป่า, สิ่งแวดล้อมในป่า เพื่อนำไปใช้การศึกษา และวิจัย นำไปสู่ผลงานวิจัยที่มีคุณค่า ซึ่งตนเองได้สืบทอดแนวอนุรักษ์ที่หลายคนมองข้าม และมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบข้าง
"สืบ นาคะเสถียร" เป็นผู้ที่มีหัวใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า ให้ทุกอย่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลกัน มีความสมดุล ซึ่งสืบพยายามทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และคงอยู่กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป
ภาพถ่ายแนวดรามาติค (Dramatic) คือ การนำเสนอภาพที่สะท้อนชีวิต และเล่าเรื่องราวให้จบในภาพเดียว ซึ่งมาจากเหตุการณ์จริง อาจเป็นภาพที่ต้องอาศัยโอกาส และจังหวะในการกดชัตเตอร์, เป็นภาพที่เน้นและให้รู้สึกถึงอารมณ์ของภาพ เช่นเดียวกันภาพถ่ายของ "ไม้หลัก" ที่สะท้อนให้เห็นความเกี่ยวข้อง และเกื้อกูลกันระหว่างสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตในธรรมชาติ
ภาพครอบครัวนก ที่ยืนเกาะบนกิ่งไม้ ซึ่งขอนไม้ที่ไม่มีชีวิต และไร้ค่าในสายตาหลาย ๆ คน แต่ขอไม้เหล่านี้ ก็ยังมีประโยชน์ต่อครอบครัวนกที่ต้องอาศัยพึ่งพิงกัน สะท้อนให้เห็นว่า ของบางอย่างที่เราไม่เห็นคุณค่า อาจจะมีคุณค่าและประโชยน์ต่อคนอื่นได้ ดังนั้น จึงไม่ควรทำลาย
ความสมบูรณ์ของป่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาพของช้างแม่-ลูก ที่ใช้งวงเกี่ยวพันกัน คล้ายการกอด สะท้อนให้เห็นว่า ช้างมีสุขภาพจิตที่แจ่มใส และรู้สึกปลอดภัยที่ได้อยู่ในป่าที่ปลอดภัย แม้จะต้องใช้เวลานาน 4-5 ชั่วโมง ในการรอจังหวะให้เกิดภาพนี้ก็ตาม
คน, สัตว์ และป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้ คือ สิ่งที่ "ไม้หลัก" ต้องการสื่อในภาพนี้ ฝูงควายที่ลงแช่น้ำ ขณะที่ด้านหลังเป็นบ้านของชาวประมง โดยมีสิ่งแวดล้อมโดยรอบเป็นป่า ทำให้รับรู้และสัมผัสได้ว่า หากไม่เอาเปรียบกัน และเกื้อกูลกัน ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบ
50-100 ปีเป็นเวลาที่ "ไม้หลัก" ลองคำนวณคร่าว ๆ จากความกว้างรอบต้นไม้ ที่เด็ก ๆ ใช้เล่น ซึ่งอยากให้เห็นว่า เราไม่ควรทำลายสิ่งที่เติบโตและดำเนินมาอย่างยาวนานไปในชั่วพริบตา ควรจะอนุรักษ์มากกว่าทำลายไป
ภาพคุณป้า ตากปลา จ.สุพรรณบุรี ถูกถ่ายเพราะอยากให้เห็นว่า ความสมบูรณ์ของแม่น้ำรอบน้ำ ยังมีความสมบูรณ์ จนสามารถจับปลามากิน และหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งหากแม่น้ำถูกทำลายลงไป ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์น้ำ แม่น้ำ แต่ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณด้วย
"ไม้หลัก" ทิ้งท้าย โดยอยากให้ทุกคนมองย้อนกลับไปยังธรรมชาติ และอยากให้ทุกคนช่วยกันดูแล รวมถึงปลูกฝัง การให้ความสำคัญกับทุกสิ่ง ให้เห็นคุณค่าของการเกื้อกูล และพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน ร่วมกันอนุรักษ์ และไม่ทำลาย