เทศกาลหนังเวนิส ครบรอบ 70 ปี
สไตล์ภาพและภาษาภาพยนตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้ แสงศตวรรษ Syndrom and a Century ของ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล เป็นหนึ่งในตัวเก็งเข้าชิงรางวัล สิงโตทองคำในปี 2006 ก่อนที่เขาจะไปคว้าปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่งในโอกาสครบรอบ 70 ปี เทศกาลภาพยนตร์เวนิสทำให้เขาได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 70 ผู้กำกับที่มีโอกาสสร้างผลงานภาพยนตร์สั้นยาว 60 วินาที โดยภาพยนตร์สั้นนี้จะถูกนำไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็ค Venice's Future reloaded ร่วมกับผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นนำซึ่งเคยสร้างผลงานโดดเด่นบนเวทีสิงห์โตทางคำ Venice's Future reloaded เป็นโปรเจ็คเพื่อฉลองให้เทศกาลภาพยนตร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะ 1 ใน 3 เทศกาลภาพยนตร์หลักระดับนานาชาติร่วมกับ เทศกาลภาพยนตร์เบอลิน และ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
เทศกาลภาพยนตร์เวนิสจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1932 โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมวงการภาพยนตร์อิตาลีโดย เบนิโต้ มุสโสลินี่ ผู้นำชาตินิยมที่เล็งเห็นว่าหนังเป็นสื่อที่มีพลังในการโฆษณาชวนเชื่อ หากปัจจุบันเวทีสิงโตทองคำกลับเป็นเทศกาลที่คนในวงการภาพยนตร์ยอมรับว่า เปิดกว้างด้านเชื้อชาติมากที่สุดเห็นได้จากการให้รางวัลสูงสุดกับผู้กำกับเอเชียมาแล้วถึง 10 คน ไม่ว่าจะเป็น อากิร่า คุโรซาว่า จากผลงานอย่าง ราโชมอน ในปี 1985 หรือ Not One Less ของ จางอวี้โหมวในปี 1999 จนมาถึง Pieta ผลงานของคิมคีดุ๊ก ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ที่คว้ารางวัลสิงโตทองคำในปีที่แล้ว
ในปีนี้เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ยังคงมีผลงานโดดเด่นของนักสร้างหนังชาวเอเชียเข้าร่วมในสายประกวดหลัก เช่น The Wind Rises ภาพยนตร์แอนิเมชั่นของ ฮายาโอะ มิยาซาว่า จากสตูดิโอ จิบลิ หรือ Stray dog ผลงานล่าสุดของ ไช่หมิงเลี่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ไต้หวันซึ่งเคยคว้ารางวัลสิงโตทองคำมาแล้ว และยังมี Marry is Happy ผลงานล่าสุดผู้กำกับภาพยนตร์ไทย นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์ ซึ่งได้ทุนจากโครงการ เบียนนาเล่ คอลเลจ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้กำกับหน้าใหม่ได้สร้างผลงานรวมถึงได้โอกาสกลับมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส