นักสื่อสารมวลชน ชี้
นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ เปิดเผยผลวิจัยรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน พบส่วนใหญ่ ไม่ให้ความสำคัญกับเนื้อหารายการส่งเสริมทักษะชีวิต สำหรับเด็กช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
นางธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุแ ละสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวในการสัมมนา "ผลการวิจัยสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน" ว่า แม้ปัจจุบันสื่อโทรทัศน์จะให้ความสำคัญกับรายการเด็กและเยาวชนมากขึ้น แต่ยังมีสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 3-5 ของสัดส่วนรายการทั้งหมด เนื้อหาส่วนใหญ่ยังเน้นบันเทิงการ์ตูน พูดคุย เกมส์นันทนาการสำหรับเด็ก
แต่เนื้อหารายการไม่ครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยเฉพาะช่วงก่อนวัยรุ่น อายุระหว่าง 6-12 ปี ที่ต้องการสาระ จากรายการเพื่อเพิ่มการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ซึ่งผู้ผลิตรายการ และผู้บริหารสื่อโทรทัศน์แต่ละช่องควรให้ความสำคัญมากขึ้น
ภายในงานอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำเสนอผลวิจัยเกี่ยวกับสื่อเพื่อเด็ก และเยาวชนย้อนหลัง 10 ปี โดยพบว่า สื่อโทรทัศน์เน้นจับกระแสรายการเฉพาะสำหรับเด็กเล็กมากเกินไป ขณะที่เนื้อหารายการหลักๆ จะข้ามเนื้อหา สาระสำหรับวัยรุ่น ทำให้เด็กต้องอยู่กับเนื้อหารายการเดียวกับผู้ใหญ่ จึงส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของเด็กและเยาวชน
นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยพีบีเอสเปิดพื้นที่รายการสำหรับเด็กและเยาวชน ที่มีสัดส่วนมากกว่าสื่อกระแสหลักช่องอื่นๆ โดยรายการมีเนื้อหาหลากหลาย ครอบคลุมทุกช่วงวัย นอกจากเน้นสาระบันเทิง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการแล้ว ยังเน้นฝึกทักษะ การแสดงออกของเด็กและเยาวชนซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2557 จะเพิ่มสัดส่วนรายการลักษณะนี้มากขึ้น