คณะทำงานดูแลสถานการณ์ราคายางพารา ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นัดหมายพูดคุยกับตัวแทนชาวสวนยางพารา ในเวลา 14.00 น.วันนี้ (4 ก.ย.2556) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
เบื้องต้นนายกิตติรัตน์ เปิดเผยว่า คณะทำงานต้องการประสานงานกับกลุ่มชาวสวนยางพาราอย่างต่อเนื่อง และเมื่อผู้ชุมนุมมีการแต่งตั้งผู้แทนขึ้นมา จึงเห็นว่าควรประสานเชิญผู้แทนมาร่วมกันพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าจะได้มีการพูดคุยกันด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง โดยมีความตั้งใจว่าจะมีการปรึกษาหารือต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อให้รับทราบว่ารัฐบาลมีความจริงใจรับฟังข้อเสนอแนะ แต่ยอมรับว่า ยังไม่มั่นใจว่า จะมีผู้แทนเข้าร่วมพูดคุยหรือไม่
ส่วนมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) 3 มาตรการ คือ 1.การอนุมัติให้ดำเนินการร่วมกับสถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่เกษตรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อลงทุนในการดำเนินการจัดสร้างหรือจัดหาโครงงานเพื่อแปรรูปวัตถุดิบให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น ในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.เป็นหน่วยงานหลัก และกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่มีการผ่อนปรน
2.การดำเนินการในส่วนของภาคผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิต เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 15,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณา และกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่มีการผ่อนปรน
3.การให้เงินสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย โดยเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มาลงทะเบียน มีจำนวน 991,717 ราย ซึ่งมี 3 ใน 4 ของเกษตรกรจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีพื้นที่ปลูกยางพารา ไม่เกิน 10 ไร่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 10 ไร่ ไร่ละ 1,260 บาท ยกเว้นผู้ที่บุกรุกที่ดินราชการเข้าไปเพาะปลูกหรืออยู่ในที่ลาดชันที่ผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวได้ มิฉะนั้นรัฐบาลจะถูกตำหนิว่าสนับสนุนคนที่กระทำผิดกฎหมาย