ศิลปินดังญี่ปุ่นฝากผลงานสำคัญในภาพพิมพ์แกะไม้
แววตาขึงขังของนักแสดงละครคาบูกิ โอทานิ โอนนิจิ ที่โด่งดังในยุคเอโดะ หนึ่งในผลงานรีโปรดักชั่นภาพพิมพ์ไม้ 28 ภาพของโทขุไซ ชะราขุ ที่แม้ลดทอนรายละเอียดให้เหลือแต่เส้นที่จำเป็น แต่กลับถ่ายทอดอารมณ์ของนักแสดงออกมาได้อย่างสมบูรณ์ สะท้อนถึงฝีมือ และความตั้งใจเมื่อศิลปินต้องแกะไม้สร้างลายเส้นเป็นหน้านักแสดง
ชะราขุเป็นศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้ยุคเอโดะที่ฝากผลงานไว้ระยะสั้นๆในปี พ.ศ.2337 ถึงปี 2338 ก่อนหายตัวไปอย่างลึกลับ จนมีความเชื่อว่าเขาอาจเป็นศิลปินดังที่อ้างชื่อ ชะราขุ เป็นนามแฝงกว่า 140 ชิ้นงานที่ทิ้งไว้ล้วนเป็นยอมรับทั้งใน และต่างประเทศในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่สะท้อนค่านิยมของผู้คนในอดีต
ฮิโรชิ คาชิวางิ ภัณฑารักษ์ กล่าวว่า ศิลปินภาพพิมพ์ไม้ในปัจจุบันอาจไม่ได้รับอิทธิพลจากชะรากุโดยตรง แต่กลายเป็นว่ากราฟิกดีไซเนอร์ที่ใช้ดิจิตอลมีเดียกลับได้รับอิทธิพลจากชะราขุมากกว่าในเรื่องการตัดทอน และดึงจุดสำคัญออกมาใช้
สำหรับเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ศิลปินจะถ่ายทอดตัวแบบได้ดั่งใจ แต่สำหรับชะราขุเขาโดดเด่นเรื่องนี้มาก ดูอย่างผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจมา หยิบเอาแค่ดวงตาหรือว่าส่วนประกอบบางส่วนมาใช้ก็สามารถบ่งบอกตัวตนของชะราขุได้ชัดเจนแล้ว
เทคนิคการสร้างภาพพิมพ์แกะไม้เริ่มต้นที่จีน แต่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการนำมาใช้สร้างงานศิลปะเชิงพานิชย์ พิมพ์ผลงานศิลป์ราคาถูกออกขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายหลังเป็นที่นิยมด้วยความละเอียดปราณีต
การใช้สีสันสดใส และลดทอนรายละเอียดของภาพเพื่อให้ง่ายต่อการพิมพ์ ยังส่งอิทธิพลไปถึงศิลปินตะวันตกในยุคอิมเพรสชั่นนิส อย่าง วินเซนต์ แวนโก๊ะ จิตรกรเอกของโลกที่ทั้งชื่นชอบ และสะสมภาพพิมพ์จากญี่ปุ่นจนส่งผลอิทธิพลทั้งเส้นสาย และการใช้สีผลงานของเขาไม่น้อย
เสน่ห์ของภาพพิมพ์แกะไม้ยังอยู่ที่กระบวณการสร้างสรรค์ที่ซับซ้อนทั้งการแกะแม่พิมพ์ให้ภาพกลับซ้ายเป็นขวา ยิ่งใช้สีมากยิ่งต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง และหากผิดพลาดเล็กน้อยอาจเสียหายทั้งบล็อค แม่พิมพ์ชิ้นเดียว สร้างงานได้ไม่จำกัด แต่เพื่อคงคุณค่า และมาตรฐานศิลปินจึงจำกัดจำนวนพิมพ์เอาไว้ นิทรรศการภาพพิมพ์แกะไม้อุคิโยะ-เอะ รูปหน้าตัวเอกจากละครคาบูกิ ฝีมือชาระขุ จัดแสดงที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถึงวันที่ 18 กันยายนนี้