ภาษาอาเซียน
อุบลราชธานีเป็นอีกจังหวัดที่มีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ แต่ปรากฎว่า คนรุ่นใหม่ที่แทบพูดภาษาเวียดนามไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อเปิดเออีซี คนพื้นที่จึงเริ่มเตรียมพร้อมเรื่องภาษาเพื่อนบ้านกัน ซึ่งการกระตุ้นชุมชนให้ตื่นตัวแต่เนิ่นๆ เป็นจุดประสงค์ของการเปิดศูนย์ศึกษาอาเซียนขึ้น
ไม่ใช่เรื่องยากเมื่อต้องบอกชนิดของหมูยอ, การเก็บรักษา และราคา เป็นภาษาเวียดนาม เพราะเจ้าของร้านหมูยอชื่อดังของจ.อุบลราชธานี สืบเชื้อสายโดยตรงจากพ่อแม่ที่หนีภัยสงครามเวียดนามมาอยู่ไทย ต่างจากรุ่นหลานที่ไม่สามารถพูดได้ เพราะเรียนแต่ในโรงเรียนไทย เมื่อคุณยายไม่อยู่รายได้ของร้านจึงมักลดลงเกือบครึ่ง เพราะไม่สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามที่มักแวะซื้อของฝากในย่านถนนศรีณรงค์
การรู้ภาษาเพื่อนบ้านไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการค้าขายในพื้นที่ชายแดน แต่ยังช่วยสร้างความเข้าใจในด้านอื่นๆ ทำให้ชาวอุบลราชธานีเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนภาษาเวียดนามอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดประชาคมอาเซียน
คอร์สภาษาเวียดนามพื้นฐาน สำหรับเยาวชนและผู้ประกอบการ ของศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคอีสาน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ตั้งขึ้นเพื่อกระตุ้นความตื่นตัว เรื่องเออีซี โดยสร้างชุมชนต้นแบบไว้ทั้งสี่ภาค ภาคอีสานอยู่ที่โรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งจะเป็นศูนย์รวบรวมความรู้อาเซียนโดยเน้นสร้างความภูมิใจในรากเหง้าของคนเชื้อสายเวียดนามในพื้นที่ ที่ทุกวันนี้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับชาวอุบลราชธานี หากวัฒนธรรมดั้งเดิมยังมีให้เห็น เช่น การแต่งกายด้วยชุดอ๋าวหย๋าย ของสตรีเวียดนาม ในโอกาสสำคัญ
ชุมชนวัดสุปัฎนารามวรวิหาร คือ หนึ่งในชุมชนคนเชื้อสายเวียดนามของอุบลฯ ที่ย้ายเข้ามาในช่วงสงครามอินโดจีน ปี 2493 โดยมีภาพซุ้มประตูเก่าของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ชาวเวียดนามส่วนหนึ่งสร้างไว้เป็นที่ระลึกก่อนเดินทางกลับประเทศ หลังฝรั่งเศสแพ้สงคราม ในช่วงปี 2503 ซึ่งทุกวันนี้คนไทยเชื้อสายเวียดนามมีบทบาทไม่น้อยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่มีภาษาเป็นประตูด่านแรกสู่ความเข้าใจ