การประชุมรัฐสภาล่ม หลังนับองค์ประชุมไม่ครบ นัดถกใหม่ 9 ก.ย.
การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่สามารถเดินหน้าพิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายต่อจากวันที่ 6 กันยายนได้ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุม ทั้งที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เปิดหารือจนเกินเวลานัดหมายร่วม 1 ชั่วโมงแล้วก็ตาม และด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้นับองค์ประชุม และหลังจากทักท้วงไม่สำเร็จ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงเสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ
ถ้อยคำจากประธานรัฐสภา ทำให้เกิดเสียงโห่ร้องไม่พอใจขึ้น จึงต้องสั่งพักการประชุมไป 35 นาที ก่อนจะเปิดประชุม และนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ทั้งที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทักท้วง แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยสนับสนุน โดยชี้ว่า การนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบให้สาธารณะชนได้รับรู้
ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างทำหน้าที่ และวางบทบาทในฐานะสมาชิกรัฐสภา ตามกติกาข้อบังคับทุกประการ
สำหรับการนับองค์ประชุม ด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง แต่หลังทราบผลประธานรัฐสภา กลับไม่ขานผลคะแนน แต่ระบุเพียงขอนัดประชุมรัฐสภาต่อวันจันทร์ที่ 9 กันยายน เวลา 14.00 น.ทำให้นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการนับองค์ประชุม ต้องแจ้งผลว่า มีผู้แสดงตัวทั้งสิ้น 319 คนจากทั้งหมด 649 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องมี 325 คน
การขานชื่อนับองค์ประชุมวันที่ 7 กันยายนนี้ พบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้แสดงตัวร่วมประชุมด้วย ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่แสดงตัวและเดินออกจากห้องประชุมเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับ ส.ว.กลุ่ม 40 บางคน ก็ไม่แสดงตัวในการเข้าร่วมประชุม
การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ว่าด้วยเรื่องที่มาของ ส.ว.นี้ รัฐสภาใช้เวลาพิจารณาไปแล้ว รวม 8 วัน ขณะที่วันที่ 9 วันนี้ใช้เวลา 2 ชั่วโมง โดยเนื้อหาที่ได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 2 ไปแล้วเกือบร้อยละ 50 ของร่างกฎหมาย หรือลงมติไปแล้ว 6 มาตรา จากทั้งหมด 13 มาตรา และนับจากนี้ รัฐสภาจะต้องอภิปรายและลงมติในมาตรา 7 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับวาระของวุฒิสภา คราวละ 6 ปี