มติ กนย.เพิ่มเงินช่วยปัจจัยการผลิตชาวสวนยางเป็นไร่ละ 2,520 - คงราคากก.ละ 90 บ.
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ประชุมประเมินสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ย.) โดยเฉพาะการประกาศปิดด่าน พรมแดน ไทย-มาเลเซีย ด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยอมรับว่า จะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว
ด่านพรมแดนไทย -มาเลเซีย ด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา เป็น 1 ใน 3 จุด ที่ชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน ประกาศจะชุมนุมปิดเส้นทางหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง ภายในวันศุกร์นี้ (13 ก.ย.) ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เตรียมพูดคุยกับแกนนำ เพราะการปิดด่านพรหมแดน จะกระทบกับธุรกิจขนส่ง และการท่องเที่ยวของภาคใต้ เนื่องจากวันที่ 13-15 ก.ย. เป็นวันหยุด เนื่องในวันชาติมาเลเซีย จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง หารือที่ทำเนียบรัฐบาล
ชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน มีมติปิดถนน 3 จุด คือ ที่ด่านสะเดา ด่านท่าเรือน้ำลึก จ.สงขลา และที่แยกปฐมพร จ.ชุมพร หากรัฐบาลไม่ปรับราคายางเป็นกิโลกรัมละ 95 บาท และปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 6 บาท หรือ ปรับราคายางกิโลกรัมละ 90 บาท ตามแนวทางรัฐบาล แต่ต้องไม่ยกเลิกการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ ไม่ดำเนินคดีแกนนำ และชดเชยผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม
แต่ว่าทิศทางเคลื่อนไหวของแกนนำ ยังไม่เป็นเอกภาพ หลายคนยังเห็นต่าง นายกาจบัณฑิต รามมาก แกนนำเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดสงขลา ยืนยันว่า จำเป็นต้องปิดด่านสะเดา ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของภาคใต้ เพื่อให้รัฐบาลหันมาสนใจวันที่ 14 ก.ย.นี้ ขณะที่นายธนพล ทองหวาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดสงขลา ยืนยันว่า จะไม่เคลื่อนไหวจนกว่าจะถึงวันที่ 20 ก.ย. เพื่อรอฟังมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ส่วนการชุมนุมปิดถนนเพชรเกษมใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนำไปสู่การสลายการชุมนุมและเผารถยนต์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ตำรวจเตรียมขออนุมัติหมายจับผู้กระทำผิด 10 คน ขณะที่สื่อมวลชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีมติยุติการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากเห็นว่า การเผารถยนต์ของสื่อมวลชนเป็นการคุกคามสื่อมวลชน ทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ล่าสุดที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย.วันนี้ (9 ก.ย.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มเงินช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวสวนยางเป็นไร่ละ 2,520 บาทจากเดิมที่ไร่ละ 1,260 บาท หรือ คิดเป็นเงินสมทบ 12 บาทต่อกิโลกรัม จากราคายางปัจจุบันที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 78 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยเหลือของรัฐบาลจะเท่ากับกิโลกรัมละ 90 บาท โดยจะช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2556 - 31 มี.ค.2557 และขยายการช่วยเหลือจาก 10 ไร่ เป็น 25 ไร่ คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท และจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ย.)