นักวิชาการชี้สื่อไทยขาดความเข้าใจการนำเสนอประเด็น
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า ประเทศไทย (AIPMC) องค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทยและ กลุ่มเพื่อนพม่า จัดเวทีสัมมนาวิชาการเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก หัวข้อ ผู้คนในความขัดแย้ง การแสวงหาที่ปลอดภัย และการบังคับโยกย้ายถิ่น :บทบาทของรัฐไทยและกลไกของอาเชียน ซึ่งภายในงานได้มีการนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "การนำเสนอภาพผู้ลี้ภัยโดยสื่อมวลชนไทย"
น.ส.พรสุข เกิดสว่างตัวแทนจากโครงการเฝ้าระวังสื่อมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนกล่าวถึงผลการศึกษาเรื่องการนำเสนอภาพผู้ลี้ภัยโดยสื่อมวลชนไทยว่ามูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้จัดทำผลการศึกษาเรื่องการทำหน้าที่ของสื่อในการนำเสนอภาพของผู้ลี้ภัยโดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกซึ่งจากงานศึกษาเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักมีการใช้คำเรียกผู้ลี้ภัยทั้งหมด149 ครั้งและพบว่ามักใช้คำว่าผู้พลัดถิ่น ผู้อพยพ ผู้หนีภัย มากที่สุด คิดเป็น28.19% รองลงมาจะใช้คำเรียกว่า ชาวพม่า ชาวกะเหรี่ยง ชาวเกาหลี หรือโสมแดงส่วนคำที่ใช้เรียกน้อยที่สุดคือคำว่าต่างด้าว ส่วนการทำหน้าที่ของสื่อทางเลือก พบว่ามักใช้คำว่าผู้ลี้ภัยมากที่สุด คิดเป็น 62.16% รองลงมาคือคำว่า ผู้พลัดถิ่นผู้อพยพ ผู้หนีภัย ส่วนคำที่ใช้เรียกน้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลยคือไม่ใช้คำเรียกกลุ่ม และว่าต่างด้าว
ตัวแทนจากโครงการเฝ้าระวังสื่อมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนกล่าวว่า สำหรับส่วนที่สำคัญคือการนำเสนอข่าวของผู้ลี้ภัยที่เป็น"ลบ" ซึ่งหมายถึงการนำเสนอข่าวที่ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อกลุ่มผู้ลี้ภัย มีการนำเสนอทั้งหมด 20ครั้ง ซึ่งจะเห็นมากที่สุดจากสื่อกระแสหลักโดยคิดเป็น 13.0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรูปแบบการนำเสนอของสื่อที่เป็นลบนี้ในหนึ่งข่าวสามารถนำเสนอได้ในหลายแบบ เช่น การพาดหัวข่าวว่าเกาหลีเหนือทะลักเป็นได้ทั้งใช้สำนวนดูถูกเหยียดหยาม และใช้ถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกรุนแรง เราได้แยกรายละเอียดรูปแบบการนำเสนอของสื่อที่เป็นลบออกได้อีก4 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ถูกนำเสนอมากที่สุดคือ ใช้ใช้ถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกรุนแรง50 เปอร์เซ็นต์ใช้สำนวนดูถูกเหยียดหยาม 30 เปอร์เซ็นต์น้อยที่สุดคือ ใช้คำตีตราและรูปแบบอื่นๆ อย่างละ 10 เปอร์เซ็นต์
"การใช้ถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงหมายถึงการใช้ภาษา คำพูดที่ทำให้เห็นภาพความรุนแรงอย่างชัดเจนและทำให้เกิดความรู้สึกว่าผู้ลี้ภัยน่ากลัว เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่นคำว่า แบกรับภาระ รวบ ผลักดันยกตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลที่เป็นลบแบบใช้ถ้อยคำให้เกิดความรุนแรง เช่นเกาหลีเหนือทะลัก ผบ.สส.ลั่นไม่เปิดศูนย์อพยพเหตุเพราะแบกรับไม่ไหว หรือการผลักดันผู้อพยพกลับ โดยทหารไทยยืนยันว่าเหตุการณ์สู้รบสงบลงการใช้ถ้อยคำเหล่านี้จะสร้างความรู้สึกหลากหลายอย่างให้กับผู้รับสารซึ่งในความเป็นจริงสื่อควรจะนำเสนอข่าวซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ด้วยความเป็นกลางและควรคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย" น.ส.พรสุขกล่าว
ด้านนายสุรชา บุญเปี่ยม อดีตผู้สื่อข่าวสายสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนอิสระกล่าวว่า เริ่มทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวด้วยการทำข่าวสงครามการทำข่าวการสู้รบและผู้ลี้ภัยทุกครั้งที่ตนทำข่าวก็เพื่อต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งในความเป็นจริงผู้สื่อข่าวที่งานในสายแบบตนนั้นลดน้อยลงทุกขณะสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่โดยเฉพาะสื่อทีวีนั้นจะให้ความสำคัญกับกับนำเสนอข่าวการเมือง เศรษฐกิจ มากกว่าข่าวเรื่องผู้ลี้ภัยหรือข่าวสิทธิมนุษยชนเพราะข่าวเหล่านั้นมีความสำคัญกับปากท้องของประชาชนมากกว่าซึ่งอาจจะเป็นแนวความคิดที่ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นักเพราะปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นส่วนของเนื้อหาข่าวที่สำคัญไม่แพ้กับข่าวการเมืองหรือข่าวเศรษฐกิจ
นายสุรชากล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าตัวผู้สื่อข่าวก็คือบรรณาธิการข่าวหรือเจ้าของสื่อเองต้องให้ความสำคัญและให้พื้นที่กับการนำเสนอข่าวเรื่องเหล่านี้เพราะนอกจากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนที่สะท้อนว่าสื่อไทยนำเสนอข่าวเรื่องผู้ลี้ภัยในด้านลบนั้นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือสื่อไทยยังขาดพื้นที่ในการนำเสนอข่าวเรื่องเหล่านี้เราจะได้เห็นเวลาหลายชั่วโมงที่สื่อไทยเจียดให้กับข่าวบันเทิง ข่าวดาราคลิปคนหลุดเดียวสื่อไทยทำสกู๊ปข่าวเจาะมากมายโดยใช้พื้นที่มากมายมหาศาลแต่เรื่องของคนลี้ภัยเป็นหมื่นเป็นพันกับไม่มีพื้นที่เรื่องนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สื่อไทยควรจะปรับปรุง