กลุ่มอุตสาหกรรมแก้ว-กระจก ค้านขึ้นราคาแอลพีจี
อุตสาหกรรมแก้ว กระจก และ เซรามิก เรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนประกาศขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจีภาคอุตสาหกรรมจากที่เคยกำหนดว่าจะปรับราคาวันที่ 1 ก.ค.นี้ และ ให้ใช้วิธีทยอยขึ้นราคาปีละ 3 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 ปีแทนการปรับขึ้น 12 บาทในเวลา 1 ปี เพื่อให้เวลาผู้ประกอบปรับตัว และ ต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เสนอ 5 มาตรการรองรับการลอยตัวราคาแอลพีจีแก่รัฐาล แต่ได้รับการสนองตอบเพียงมาตรการเดียว คือ ให้ผู้ครอบครองก๊าซแอลพีจีมากกว่า 1,000 กิโลกรัม ต้องเก็บก๊าซในถังขนาดใหญ่ หรือ บัลค์ จากเดิมกำหนดไว้ที่ 500 กิโลกรัมทำให้โรงงานขนาดเล็กไม่ต้องสร้างบัลค์ และ ได้ใช้ก๊าซในราคาเท่าครัวเรือน
นายอำนาจ ยะโสธร เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก กล่าวว่า ผู้ผลิตเซรามิกใช้แอลพีจีเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับการใช้แอลพีจีทั้งหมด ซึ่งหากแอลพีจีขึ้นราคาต้นทุนเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นร้อยละ 70 ซึ่งบั่นทอนศักยภาพการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะที่เซรามิกต่างประเทศเข้ามาตีตลาดจากยอดนำเข้าเซรามิกของไทยที่ขยายตัวถึงร้อยละ 57
นายสมชัย โอวุฒิธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก ชี้ว่า การย้ายโรงงานไปอยู่ใกล้แนวท่อก๊าซธรรมชาติต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทหากไม่มีทางออกหลายโรงงานอาจต้องปิดตัวลง และอาจกระทบกับแรงงานในสองกลุ่มอุตสาหกรรมถึง 40,000 คน
ขณะที่นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้กระทรวงพลังงานได้เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามในประกาศปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ให้ปรับขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ในอัตรากิโลกรัมละ 3 บาท ทุกๆ 3 เดือน รวม 4 ครั้ง ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีเองว่าจะลงนามหรือไม่