จุดที่เกิดเหตุ อยู่บริเวณสะพานดำ ย่านบางซื่อ เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าตรวจสอบพบว่า ขบวนรถไฟ สายบัตเตอร์เวอร์ธ-กรุงเทพฯ ซึ่งเดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย ตกราง ซึ่งจากการตรวจสภาพไม้หมอนรถไฟมีสภาพผุ เจ้าหน้าที่ระบุว่า เมื่อขบวนรถวิ่งมาถึงจุดเกิดเหตุ โบกี้ที่ 10 เกิดล้อเลื่อนหลุดจากรางเจ้าหน้าที่จึงหยุดรถ และถ่ายผู้โดยสารไปยังโบกี้ 1 - 9 ซึ่งอยู่ในสภาพปกติ ก่อนเดินรถต่อไปยังสถานีหัวลำโพง
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เบื้องต้น จะใช้รถลากโบกี้ที่เกิดเหตุไปตรวจสอบ ที่สถานีบางซื่อ ส่วนสาเหตุ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า เกิดจากสภาพตัวรถ สภาพราง ประแจไม้หมอน รวมทั้งตรวจสอบความเร็วของรถไฟขณะเกิดเหตุ พร้อมเร่งซ่อมแซมรางรถไฟที่ได้รับความเสียหาย โดยจะปิดใช้รางดังกล่าว และใช้รางคู่ขนานแทน
นายสุเมธ องกิตติกุลนักวิชาการอาวุโสสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ มองว่า การปิดซ่อมแซมรางรถไฟสายเหนือจำนวนกว่า 45 วัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่จะส่งผลดีต่อการให้บริการประชาชนในภาพรวมรางรถไฟเส้นทางสายเหนือทรุดโทรมมาก การรถไฟต้องเร่งแก้ไข และ ระยะถัดไปก็ต้องเข้มงวดในการบำรุงรักษาสภาพรางไม่ให้ถูกกัดเซาะเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตั้งแต่ ม.ค. - ก.ย.ปีนี้ (56) รถไฟสายเหนือเกิดอุบัติเหตุตกรางจำนวน 23 ครั้ง และในเดือน มิ.ย. - ก.ค.เกิดอุบัติเหตุ ถึง 9 ครั้ง ถือว่ามากที่สุด แต่สาเหตุหลังจากสอบสวน พบว่า รถไฟตกราง เพราะสภาพทางและล้อเลื่อน แต่อีกหลายเหตุการณ์ ก็ไม่มีผลสรุปสาเหตุที่แน่ชัด
ขบวนรถไฟ ช่วงเส้นทางจาก จ.แพร่ - จ.ลำปาง ตกรางตั้งแต่ต้นปีไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง สาเหตุจากภัยธรรมชาติ ทำให้ดินบริเวณรางรถไฟ ถูกกัดเซาะอย่างรวดเร็ว แต่หากย้อนดูสถิติปีที่ผ่านมา (55) มีอุบัติเหตุรถไฟทุกประเภท ทั้งขบวนขนส่งสินค้า และรถโดยสาร ตกรางจำนวน 89 ครั้ง แต่ปีนี้ (56) เพียง 9 เดือน ตกรางเพิ่มขึ้น เเละถ้ารวมครั้งนี้ ก็จะเป็น 114 ครั้งทั่วประเทศ