ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัญญาณความเสียหายของ "เมล็ดพันธุ์" หลังการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

18 ก.ย. 56
16:02
203
Logo Thai PBS
สัญญาณความเสียหายของ "เมล็ดพันธุ์" หลังการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ค้านการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 2 หลังมีกระแสข่าวว่าสหภาพยุโรปจะผลักดันให้รัฐบาลไทยปรับปรุงกฎหมายพันธุ์พืช เพื่อแลกกับการลดภาษีนำเข้าอาหาร และยานยนต์ให้ไทย ซึ่งหากไทยยอมเจรจาเอฟทีเอในประเด็นนี้ ก็จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีการพัฒนามาตรฐานการผลิตตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตไม่แตกต่างกับเมล็ดพันธุ์ของบริษัทชั้นนำ ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังพวกเขาเปลี่ยนสถานะจากผู้รับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง มารวมกลุ่มกันในลักษณะวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ราคาถูกกว่าท้องตลาด ส่งขายให้กับเกษตรกรหลายพื้นที่

 
การขายเมล็ดพันธุ์คุณภาพใกล้เคียงกันในราคาที่ต่ำกว่า ทำให้กลุ่มเกษตรกรอ.พร้าวเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดค้าเมล็ดพันธุ์ของจ.น่าน ซึ่งมีมูลค่าปีละกว่า 260 ล้านบาทอย่างรวดเร็ว แม้จะยังมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ยอดขายของกลุ่มบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ลดน้อยลง โดยเฉพาะการมีจุดขายไปที่กลุ่มเกษตรกรที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต
 
การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยลักษณะนี้อาจล่มสลาย เป็นสถานการณ์ที่เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นกังวล หลังมีสัญญาณจากสหภาพยุโรป ในการขอให้ไทยปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อแลกกับการลดภาษีนำเข้าอาหารและยานยนต์ให้กับไทย ในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทยอียูที่กำลังเกิดขึ้น

    

 
แนวทางคือยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 และนำสนธิสัญญายูพอฟ 1991 มาใช้ทั้งฉบับ หากเป็นไปตามนั้นจะเพิ่มระยะเวลาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ให้กับบริษัทที่ขอรับการคุ้มครองจาก 12-17 ปีเป็น 20-25 ปี พร้อมกับการยกเลิกเกณฑ์การขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับรัฐ แนวทางนี้คล้ายกับกลุ่มบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ในไทยที่ผลักดันการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกรมวิชาการเกษตรกร เพื่อรับรองการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่อาจเป็นการตัดเงื่อนไขที่เอื้อให้เกษตรในกฎหมายฉบับปัจจุบัน
 
การแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชในทิศทางนี้ อาจส่งผลดีต่อการลงทุนในสายของกลุ่มบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ แต่สำหรับเกษตรกร นี่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทขนาดใหญ่มีอำนาจผูกขาดตลาดยิ่งขึ้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีเกษตรกรในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ดำเนินคดี

    

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง