ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาคประชาชนตั้งข้อสังเกต "ไทย"เสียเปรียบ 4 ประเด็น "เจรจาเอฟทีเอ"

เศรษฐกิจ
20 ก.ย. 56
05:38
117
Logo Thai PBS
ภาคประชาชนตั้งข้อสังเกต "ไทย"เสียเปรียบ 4 ประเด็น "เจรจาเอฟทีเอ"

วันนี้ (20 ก.ย.) จะเป็นวันสุดท้ายของการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า หรือ เอฟทีเอ ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป หรือ อียู ในรอบที่ 2 โดยผู้แทนการเจรจาของไทย ยืนยันว่า การเจรจาต้องยึดประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยอาจเสียประโยชน์จากการเจรจาครั้งนี้ใน 4 ประเด็น

เครือข่ายภาคประชาสังคม ในนามกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ยืนยันว่า จะจับตาการเจรจาการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ไทยกับสหภาพยุโรปรอบ 2 ต่อไป พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การเจรจาครั้งนี้อาจทำให้ไทยต้องเสียประโยชน์ใน 4 ประเด็น คือ สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา การเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืช ความพยายามคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการลดภาษีสุรา บุหรี่ต่างประเทศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ไทยกำลังถูกกดดันจากคณะเจรจาของอียูให้ไทยต้องยอมรับข้อตกลง

สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม FTA Watch ในวันสุดท้ายของการเจรจา จะยังคงนัดรวมตัวกัน ที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ ต่อต้านการกระทำของสหภาพยุโรป โดยจะยกระดับการรณรงค์สร้างความเข้าใจกับสังคมอย่างจริงจัง พร้อมทั้งประสานกับเครือข่ายเอ็นจีโอต่างประเทศ เพื่อประณามการกระทำของสหภาพยุโรปที่พยายามกดดันให้ไทยยอมรับข้อเจรจาที่ไทยเสียประโยชน์

ด้านนายอัครเรศน์ สายกระจ่าง ที่ปรึกษาผู้แทนการค้าไทย ตัวแทนคณะเจรจาฝ่ายไทย ยืนยันว่า การเจรจารอบ 2 ยังมีหลายประเด็นที่ต้องตีความ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด โดยคณะเจรจาทุกคน จะปฏิบัติหน้าที่ยึดประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้เคลื่อนไหวคัดค้านการทำเอฟทีเอกับอียู ระบุถึงผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากคณะเจรจาของไทยยอมรับเงื่อนไขในการเปิดเสรีการค้า เช่น ข้อตกลงด้านยาและสุขภาพ ที่จะทำให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถผูกขาด การขายยาได้นานขึ้น เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรออกไปไม่ต่ำกว่า 5 ปี จากเดิม 20 ปี ส่งผลโดยตรงต่อราคายาที่แพงขึ้น และยาราคาถูกที่ไทยเคยผลิตเองอาจติดเงื่อนไขจนผลิตไม่ได้ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายได้

ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สหภาพยุโรปต้องการให้ไทยลดภาษีแอลกอฮอล์ลงไป ร้อยละ 90 ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ ทะลักเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ เป็นการสร้างนักดื่มหน้าใหม่ และทำให้นักดื่มหน้าเก่าดื่มหนักขึ้น

ด้านการเกษตรและอาหาร สหภาพยุโรปต้องการให้ไทยเปลี่ยนกฎหมายมาใช้อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งจะคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่และนักปรับปรุงพันธุ์ ไม่คุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรต่างชาติที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า ฉกฉวยพันธุ์พื้นเมืองไปปรับแต่ง และจดสิทธิบัตรทับยีนของพืชเดิมได้ โดยได้สิทธิผูกขาดทั้งส่วนขาย ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ โดยจะกระทบถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหารของไทยเอง

ส่วนประเด็นเรื่องการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ สหภาพยุโรปต้องการให้ไทยคุ้มครองการลงทุน เช่น ควบคุมการปล่อยน้ำเสีย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่ผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแทน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง