นักวิชาการร่วมจัดทำข้อเสนอป้องกันการพนันกลุ่มเยาวชน
จากการสำรวจสถานการณ์ของเยาวชน ปี 2556 โดยเครือข่ายเยาวชน 4 ภาค ของศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงษ์ พบว่า เยาวชน เคยเล่นไพ่ 62 % เคยเล่นหวยใต้ดิน 39 % เคยเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล 35 % เคยเล่นพนันฟุตบอล 26 % เล่นพนันฟุตบอล เคยส่ง เอสเอ็มเอสชิงโชค 12 % และเคยเล่นหวยออนไลน์ 7 %
ผลสำรวจยังพบว่า เยาวชนทุกภูมิภาค เล่นไพ่และไฮโลมากที่สุด โดยเยาวชนอายุน้อยกว่า 18 ปี เสี่ยงต่อการพนันมากที่สุดและไม่ถูกลงโทษจากครอบครัว ทำให้รู้สึกว่าการเล่นพนันไม่ใช่เรื่องผิด และยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการพนันที่ต่ำกว่าเกณฑ์
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงษ์ จำแนกคนเล่นพนันเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเล่นพนันจนเกิดปัญหา และ กลุ่มเป็นโรคติดการพนัน โดยองค์การอนามัยโลก จัดให้เป็นความผิดปกติของการควบคุมแรงผลักดัน ซึ่งจะทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง
งานวิจัยยังพบว่า ผู้ที่ติดการพนันอาจจะทำให้เกิดโรคทางจิตเวช เช่นโรคซึมเศร้า หรือทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ส่วนปัญหาของเยาวชนที่ติดการพนันส่วนใหญ่ ไม่อยากเรียนหนังสือ หมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนัน
ขณะที่เครือข่ายอาจารย์คณะสื่อสารมวลชนเพื่อขับเคลื่อนสังคมลดปัญหาจากการพนันในมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาจากการพนันในกลุ่มนิสิตนักศึกษา5 ข้อ ได้แก่ให้กระทรวงศึกษธิการส่งเสริมการเรียนรู้ ป้องกันภัยการพนันตั้งแต่ประถมและมัธยม โดยเฉพาะการรู้เท่าทันการพนันแฝงในรูปแบบการชิงโชค
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กสทช. และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องหามาตรการเฝ้าระวังและปราบปรามเว็บไซต์การพนันให้เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ร่วมกำหนดคำนิยมพนันแบบใดผิดกฎหมาย เช่น SMS ส่งเพื่อให้ชิงรางวัล การชิงโชคเปิดฝาลุ้นเงินล้าน การพนันพื้นบ้าน
นอกจากนี้ ห้ามเล่นการพนันทุกรูปแบบและห้ามจำหน่ายสลากกินแบ่งในมหาวิทยาลัย และร่วมกับชุมชนตรวจสอบป้องปรามร้านอาหาร สถานบันเทิงรอบมหาวิทยาลัย ไม่ให้เป็นแหล่งรวมกลุ่มกันเล่นพนันของนักศึกษาและสุดท้ายสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ ต้องบรรจุการต่อต้านการพนัน เข้าเป็นเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาคุณสมบัติของบัณฑิต