เปิดแผนรับมือ
การเตรียมความพร้อม รับมือเหตุรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นเรื่องจำเป็น และทุกฝ่ายต้องมีความรู้ความสามารถ ที่จะช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน จึงเป็นหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ การซ้อมเสมือนจริง หรือ ซ้อมเพื่อทำความเข้าใจ ในการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น และการให้ความรู้เจ้าหน้าที่ อยู่เสมอ จึงเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล อาสากู้ภัย
เหตุการณ์เสมือนจริง เหตุระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกนำมาให้ พลเรือนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน กว่า 30 คน ประกอบด้วย ทหาร หมอ พยาบาล และอาสากู้ภัย จากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่เสี่ยงต่อการปะทะ จังหวัดสุรินทร์ ฝึกปฏิบัติ ในการช่วยชีวิตฉุกเฉิน ทั้งการเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ การรับมือในที่เกิดเหตุสถานการณ์รุนแรง เช่น เหตุการณ์ต่อสู้ด้วยอาวุธสงคราม หรือ เหตุลอบวางระเบิดและสถานการณ์จราจล
นางสาวสมหมาย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ยอมรับว่า เป็นพยาบาลอยู่ในพื้นที่แนวปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา มา 16 ปี เพิ่งมีโอกาศเรียนรู้เกี่ยวกับการแพทย์ทหารและกลไกการบาดเจ็บจากกระสุนปืนและระเบิด โดยเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ปะทะเป็นอย่างมาก
ขณะที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินที่มาจากจังหวัดยะลา ที่เข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ บอกว่า แม้วิธีการ ทางการแพทย์ฉุกเฉิน กับการแพทย์ทหาร ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก แต่ทหารก็มียุทธวิธีที่รวดเร็วและมีทักษะการเข้าที่เกิดเหตุยอดเยี่ยมกว่า ซึ่งเป็นส่วนที่ทีมแพทย์ยะลาได้เรียนรู้เพและเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงาน แต่ยอมรับว่า ในสถานการณ์จริง ยังมีอุปสรรคในเรื่องการประสานงานหรือการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน
สำหรับการฝึกในขั้นตอนต่อไป พลเรือนจะต้องลงพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อนำยุทธวิธีไปปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่เพียงแต่เน้นการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มทักษะให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ณ ที่เกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยทั้งผู้บาดเจ็บและผู้เข้าให้ความช่วยเหลือด้วย