กลุ่มต่อต้านออกแถลงการณ์ค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์
กิจกรรมสุดท้ายของกลุ่มต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ นำโดยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่เดินเท้าไปรวมตัวที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการเดินรณรงค์คัดค้านจำนวนมาก เครือข่ายผู้ร่วมคัดค้านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เขื่อนแม่วงก์ ร่วมอ่านแถลงการณ์คัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยระบุว่ารายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่นๆ ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
รายงานฉบับนี้ได้ระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อน ที่พบว่ามีข้อมูลด้านประโยชน์น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงได้ทั้งหมด รวมถึงไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน นอกจากนี้ ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่มีมาตรการที่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์ และในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรหลายตำแหน่ง ซึ่งส่อให้เห็นว่าต้องการเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ดังนั้น การเร่งรัดผ่านรายงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ในครั้งนี้ จึงมีความผิดปกติอย่างยิ่งต่อมาตรฐานทางวิชาการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กบอ. กล่าวว่า กรณีที่มีกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ออกมาประท้วงนั้น ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ แต่อยากให้ทุกคนมองภาพรวมทั้งประเทศด้วย เพราะเมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ เขื่อนทั่วประเทศ 21 แห่ง สามารถกักน้ำไว้ได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น