จับตา
โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการประชานิยม ที่รัฐบาลใช้เงินอุดหนุนมากที่สุดโครงการหนึ่ง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แม้ชาวนาจะได้ประโยชน์ แต่ก็สร้างปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะภาระทางการคลัง
หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และคำเตือนจากสถาบันจัดอันดับมูดี้ รัฐบาลยอมที่จะปรับหลักเกณฑ์รับจำนำข้าว ก่อนเดินหน้าโครงการเป็นปีที่ 3 เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งนักวิชาการและภาคเอกชน เห็นว่าหากยังคงเดินหน้าจะยิ่งสร้างปัญหาให้ประเทศมากขึ้นอีก
7 ตุลาคม ปี 2554 รัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเป็นปีแรกตามที่ได้หาเสียงไว้กับชาวนา ด้วยราคารับซื้อตันละ 15,000 บาท สูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 40 ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้ประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น แต่ราคาที่สูง ก็ทำให้การส่งออกข้าว ลดลงต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนาม และการส่งออกไปยังตลาด เอเชีย อาเซียน ยุโรป ก็หดตัวลง
ระหว่างดำเนินโครงการ พบปัญหาการร้องเรียนทุจริตอย่างต่อเนื่อง เช่น การโกงความชื้น, การสวมสิทธิ์ แต่รัฐบาลก็ยืนยันเดินหน้าโครงการต่อ ช่วงเกือบ 2 ปี รัฐใช้เงินอุดหนุนไปกว่า 600,000 ล้านบาท มีข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการ 43.5 ล้านล้านตัน เป็นข้าวสาร 28 ล้านตัน
แต่รัฐบาลระบายข้าวได้บางส่วน ได้เงินประมาณ 150,000 ล้านบาท มีการประเมินว่าขณะนี้ไทยน่าจะมีสต็อกข้าวเหลืออยู่สูงกว่า 10 ล้านตัน ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลยอมปรับเงื่อนไขการรับจำนำใหม่ในปีที่ 3 ที่จะเริ่มตุลาคมนี้ โดยอ้างความสมดุลทุกด้าน ทั้งงบประมาณ การแข่งขันในตลาดโลก
นักวิชาการจากสถาบันคลังสมองของชาติและผู้ส่งออก ประเมินว่า 2 ปีของโครงการ รัฐบาลขาดทุนหนัก แม้โครงการใหม่จะปรับเงื่อนไขรับจำนำ เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกตลาด นอกจากโครงการรับจำนำข้าว โครงการนโยบายประชานิยมหลายด้านของรัฐบาลล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดภาระการคลังและเป็นนโยบายระยะสั้น
คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ระบุว่า ในรอบปีแรกของการบริหารงานของรัฐบาล นโยบายประชานิยมทำให้เกิดภาระการคลังกว่า 544,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก และที่ใช้งบประมาณมากที่สุดคือโครงการรับจำนำข้าว
พร้อมทั้งเสนอว่า การใช้นโยบายประชานิยมต้องมีการวางยุทธศาสตร์รองรับ เหมาะสมกับสถานการณ์ และคำนึงถึงเสถียรภาพทางการคลังโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงรวมทั้งวิกฤติจากเศรษฐกิจโลก