ชาวสวนยางพารา อ.ลานสกา จ.นครศรีฯ ร้องรัฐจ่ายเงินชดเชยเท่าเทียม หลังไร้เอกสารสิทธิ์
ชาวสวนยางในพื้นที่ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในเทือกเขาหลวง และทับซ้อนกับเขตป่าสงวนทั้งที่ได้สืบทอดการทำเกษตรกรรมมาจากบรรพบุรุษ แต่กลับไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิต เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิในการนำไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร พวกเขาจึงเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม เนื่องจากรัฐมีการเก็บภาษีจากชาวสวนยางทุกราย
รัฐเรียกเก็บภาษีส่งออกยางพาราในอัตรา 2–5 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะเก็บ 2 บาทในกรณีที่ราคายางพาราต่ำกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 3 บาท หากราคายางอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 –100 บาท และจะเก็บสูงสุด 5 บาทต่อกิโลกรัม หากราคายางสูงกว่า 100 บาท ซึ่งนายบัญชา สมบูรณ์สุข ผู้เชี่ยวชาญยางพารามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ระบุว่าการจ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตช่วยเหลือนั้นชาวสวนยางได้เพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น
ด้านเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดประชุมร่วมกันก่อนมีมติเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 5 ข้อ คือ ให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างราคายางพาราแผ่นดิบในราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ผลประโยชน์ครอบคลุมชาวสวนยางทั้งระบบ ให้ยุติการดำเนินคดี จับกุมชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องประกาศยกเลิกการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยในพื้นที่การชุมนุม และสุดท้ายรัฐบาลต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หากเลยกำหนดเวลาจะยกระดับการชุมนุมขั้นสูงสุด ที่อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
จุดที่ผมรายงานอยู่นี้ คือ แยกควนหนองหงส์ สถานที่ชุมนุมของชาวสวนยางซึ่งจะเห็นว่าได้ว่ารถตำรวจที่ถูกเผายังไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายแสดงให้เห็นถึงความบาดหมางระหว่างรัฐกับประชาชน จึงเป็นสิ่งท้าทายต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชคนใหม่ว่าจะสามารถเข้าใจเข้าถึงและสร้างความปรองดองกับชาวบ้านได้หรือไม่