ผู้บริหารสถานศึกษาเลื่อนเปิด - ปิดภาคเรียนรองรับอาเซียนอาจกระทบต่อวิถีชีวิต
ผู้บริหารสถานศึกษายอมรับการเลื่อนเปิด - ปิดภาคเรียนเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาจกระทบต่อวิถีชีวิต การบริหารจัดการด้านงบประมาณ แต่พบข้อดีที่อาจทำให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัวในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษามากขึ้น
ในการเสวนาวิชาการ "ผลกระทบ ทางเลือกและทางออกเกี่ยวกับการเลื่อนเปิด - ปิดภาคเรียนของสถานศึกษา มุ่งเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน" จากผลวิเคราะห์พบว่าการที่มหาวิทยาลัยเลื่อนเปิด - ปิดภาคเรียนจะทำให้ช่วงเวลาการเตรียมตัวของนักเรียนก่อนเข้าสู่อุดมศึกษาเพิ่มขึ้น โดยช่วงเวลาใหม่กว่า 4 เดือน จะทำให้การรับสมัครนักศึกษา การสอบระดับเพื่อศึกษาต่อไม่ต้องเร่งรีบ และกินเวลาในช่วงเวลาเรียน รวมถึงจะมีเวลาในการปรับพื้นฐานในการก้าวเป็นนักศึกษาใหม่
ในส่วนผลกระทบเห็นว่าในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาจส่งผลต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเวลาใหม่กินเวลาช่วงเทศกาลวันหยุดยาวในเดือนเมษายน อาจทำให้การเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งสะท้อนว่าการเตรียมพร้อมต้องปรับรูปแบบหลักสูตร เวลาเรียน กิจกรรม อาจคาบเกี่ยวต่อปีงบประมาณที่จะทำให้การบริหารจัดการเกิดปัญหาได้
ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการยอมรับว่าแม้มหาวิทยาลัยจะปรับการเปิด - ปิดเรียนตามอาเซียน แต่เป็นอำนาจของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องพิจารณาเปิดปิดเรียนให้สอดคล้องกันตามความเหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนจะก่อให้เกิดประโยชน์
ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2557 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ประกาศเปลี่ยนแปลงการเปิด - ปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยรัฐ 27 แห่ง โดยภาคเรียนที่ 1 จะเปิดเรียนในเดือนสิงหาคมถึง ธันวาคม ภาคเรียนที่ 2 เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม
ส่วนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.ได้พิจารณาเลื่อนเปิด - ปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2557 เช่นกัน โดยเปิดเรียนภาคเรียนที่ 1 วันที่ 10 มิถุนายนถึง 4 พฤศจิกายน ภาคเรียนที่ 2 วันที่ 26 พฤศจิกายนถึง 26 เมษายน