ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาคอุตสาหกรรมเรียกร้องชะลอมาตรการลอยตัวราคาแก๊สแอลพีจี

เศรษฐกิจ
1 ก.ค. 54
02:32
22
Logo Thai PBS
ภาคอุตสาหกรรมเรียกร้องชะลอมาตรการลอยตัวราคาแก๊สแอลพีจี

ภาครัฐจะเริ่มทยอยปรับราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะปรับไตรมาศละ 3 บาท รวม 4 ไตรมาศ เป็นเงิน 12 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการแก้วและเซรามิก ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอมาตรการลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากต้นทุนการผลิตด้านพลังงานจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 ซึ่งอาจส่งผลต่อการจ้างานในอนาคต

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มาตรการลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม ที่จะปรับขึ้นไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม รวม 4 ไตรมาส เป็นเงิน 12 บาท ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมแก้วกระจกและเซรามิกเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 เพราะมีค่าเชื้อเพลิงสูงขึ้น ร้อยละ 25-40 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการถึง 70 โรงงาน ที่มีแรงงานรวมกว่า 25,000 คน

โดยที่ประชุม ส.อ.ท. ได้เสนอ 2 มาตรการหลัก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการ คือ ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ปีละ 3 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีเวลาปรับตัวและสามารถจัดหาพลังงานทดแทนอื่นมาทดแทน และการขยายถังก๊าซหุงต้มขนาด 48 กิโลกรัม ให้สามารถตั้งในโรงงานได้ จาก 10 ถัง เป็น 20 ถัง

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า การลอยตัวก๊าซแอลพีจีในวันนี้ น่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซลดลง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกที่มีการใช้ก๊าซปีละประมาณ 600,000 ตัน จะเปลี่ยนไปใช้แบบก๊าซบรรจุถังแบบภาคครัวเรือน หรือ ใช้น้ำมันเตาแทน ซึ่งมีราคาต่ำกว่าเบนซิน และดีเซลครึ่งหนึ่งแทน

ทั้งนี้จากราคาพลังงานต่างๆ ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2547 ในส่วนของก๊าซแอลพีจี มีราคาเฉลี่ยที่ 294.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปีนี้ ราคาก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นมาที่ 865.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งจะเห็นว่าในตลาดโลกมีการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีถึง 3 เท่าตัว แต่ภายในประเทศมีการปรับขึ้นราคาค่อนข้างน้อย เนื่องจากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงราคาก๊าซแอลพีจีนี้เป็นระยะ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรประเมินว่า แม้การตรึงราคาก๊าซแอลพีจีจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้บริโภค แต่การบิดเบือนราคาก๊าซ ส่งผลกระทบด้านลบทั้งด้านการผลิตและการใช้ เนื่องจากราคาที่คงที่ไม่จูงใจให้โรงแยกก๊าซเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปีละกว่า 1,600,000 ตัน จากเดิมที่เคยเป็นผู้ส่งออก

ขณะเดียวกัน มีผู้นิยมใช้ก๊าซแอลพีจีในในภาคขนส่งมากขึ้น โดยพบว่าปริมาณรถยนต์ที่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจี ในช่วงไตรมาสแรกของนี้ มีจำนวนสะสมทั้งสิ้น กว่า 700,000 คัน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระในการอุดหนุนราคาก๊าซในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมเป็นเงินกว่า 42,000 ล้านบาท

ขณะที่การตัดสินใจปรับราคาก๊าซครั้งนี้จะส่งผลดีให้ประชาชนประหยัดมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการลักลอบนำก๊าซไปขายประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคเตรียมตัวรับราคาก๊าซตามราคาที่แท้จริงในตลาดโลกต่อไป

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ภาครัฐจะเริ่มทยอยปรับราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี (LPG) ในภาคอุตสาหกรรม โดยจะปรับไตรมาสละ 1 ครั้ง/ครั้งละ 3 บาท/ก.ก. รวม 4 ไตรมาส แต่สำหรับราคาก๊าซแอลพีจี ในภาคครัวเรือนและขนส่งนั้น ยังคงให้ตรึงต่อไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2554

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาก๊าซแอลพีจี ในตลาดโลก ยังคงทรงตัวในระดับสูง ทำให้ภาครัฐจะมีภาระในการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีอยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่ฐานะของเงินกองทุนน้ำมันฯในปัจจุบัน เหลือเงินสุทธิไม่มากพอที่จะนำมาอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี ได้ในระยะข้างหน้า ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ต้องเร่งตัดสินใจโดยเร็วว่า จะมีแนวทางต่อการจัดการโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี ทั้งระบบต่อไปอย่างไร ซึ่งไม่ว่าภาครัฐจะเลือกแนวทางใด

สิ่งสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาก็คือ ควรเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสามารถทำให้ฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯมีความมั่นคงเพียงพอ ที่จะใช้รักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานในอนาคต ประการสำคัญ แนวทางดังกล่าว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีเวลาปรับตัว ซึ่งจะช่วยจำกัดและลดขอบเขตผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายได้พอสมควร

โดยที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีประมาณ 770,000 ตัน/ปี แยกเป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรมแก้วและกระจกประมาณ 150,000ตัน และอุตสาหกรรมเซรามิกประมาณ 55,000 ตัน(ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี 12 บาท/กิโลกรัม จะทำให้อุตสาหกรรมแก้วและกระจก รวมทั้งอุตสาหกรรมเซรามิก มีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 1,800 ล้านบาท/ปี และ 660 ล้านบาท/ปี ตามลำดับ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง