ตรวจสอบสาหร่ายสีแดง ชายฝั่งทะเลจ.สงขลา
สิ่งที่ติดมากับอวนของชาวประมงชายฝั่งในอ.ระโนด สทิงพระ และสิงหนคร จ.สงขลา ไม่ใช่สัตว์น้ำแต่ถูกแทนที่ด้วยสาหร่ายทะเลสีแดง ชาวประมงบอกว่าชั่วชีวิตไม่เคยพบเห็นสาหร่ายชนิดนี้มาก่อน ในทะเลอ่าวไทย สาหร่ายทะเลที่พบ มีลักษณะสีแดงเข้ม รูปร่างใสคล้ายวุ้น กำลังแพร่กระจายเป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ทั้งในบริเวณน้ำลึกและน้ำตื้น ซึ่งนักวิชาการด้านวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำตัวอย่างของสาหร่ายทะเลที่พบไปทำการวิเคราะห์และศึกษาโครงสร้างว่าจัดอยู่ในประเภทของสาหร่ายทะเลกลุ่มใด
ก่อนหน้านี้นักชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำรวจและบันทึกภาพท้องทะเลในบริเวนใกล้เคียงกับจุดที่มีการตรวจพบสาหร่ายทะเลสีแดง พบว่ามีการก่อตัวของแนวปะการัง มีสัตว์น้ำอาศัย และสาหร่ายทะเลหลายชนิดแพร่กระจายในบริเวณดังกล่าว ซึ่งหากเป็นสาหร่ายชนิดเดียวกับที่กำลังพบและนำมาใช้ประโยชน์ได้ อาจจะช่วยลดความวิตกกังวลให้กับชาวประมงในบริเวณนี้ได้
ข้อมูลทางวิชาการระบุว่าสาหร่ายทะเล เป็นพืชชั้นต่ำ ไม่มีระบบลำเลียงอาหาร แต่ดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากน้ำทะเลเข้าสู่เซลล์โดยตรง แพร่กระจายพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์และแบ่งตัว ในทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน พบสาหร่ายทะเล กว่า 100 สกุล แต่มีเพียง 17 สกุล ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ มีทั้งสาหร่ายทะเลสีเขียว สาหร่ายทะเลสีน้ำตาล และสาหร่ายทะเลสีแดง ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเหมือนกับที่พบในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสงขลาหรือไม่