ปิดฉากประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก
เป็นไปตามความคาดหมายสำหรับปัญหาทะเลจีนใต้โดยในแถลงการณ์ร่วมได้ตัดคำที่มีนัย ที่จะหมายถึงกรอบเวลาออกไปโดยปัญหานี้เป็นที่พูดถึงของสมาชิกเกือบทุกชาติ เนื่องจากพื้นที่ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญแต่ท่าทีล่าสุดของ คู่กรณีก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้นหลังจากในช่วงที่ผ่านมามีการ ประทะกันทั้งในเวทีประชุมและในพื้นที่พิพาท
การประชุมที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในวันที่ 10 ตุลาคมนี้คือการประชุมเอเซียตะวันออก (อีเอเอส) ที่มีประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีลแลนด์ อินเดีย สหรัฐและรัสเซียเข้าร่วม เนื่องจากจะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องทะลจีนใต้ขึ้นมาหารือ
ด้านนายเบนิกโน่ อะควิโน่ ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์เห็นด้วยที่จะให้มีการพูดคุยกันแต่ก็อยากเห็นหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด และยังเห็นว่าขบวนการอนุญาโตกุลาการยังมีความจำเป็น ซึ่งนายจอห์น เคอรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พันธมิตรของฟิลิปปินส์แสดงความเห็นด้วยในเรื่องนี้ และต้องการให้มีความปลอดภัยและเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ
ขณะที่ นายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้แสดงความเห็นว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่จำเป็น ส่วนเสรีภาพในการเดินเรือมีอยู่แล้ว เพียงแต่มีปัญหาพิพาทเกี่ยวกับเกาะเท่านั้น
ถึงแม้ภาพรวมจะเป็นไปได้ด้วยดีแต่ดูเหมือนปัญหาเรื่องกรอบเวลายังเป็นสิ่งที่ คู่กรณีเห็นไม่ตรงกันสะท้อนได้จากแถลงการณ์ร่วมอาเซียนจีนในโอกาสฉลองความ สัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ครบ 10 ปีที่ก่อนหน้านี้ต้องการให้มีการระบุว่าอยากให้ มีการสรุปเรื่องหลักปฏิบัติออกมาโดยเร็วที่สุด แต่ในแถลงการณ์ที่ออกมาในวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดไป 1 วันได้มีการถ้อยคำดังกล่าวทิ้งโดยมีรายงานว่าจีนไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว
ส่วนประเด็นที่ผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียไม่มาเข้าร่วมการประชุมเอเซียตะวันออกจนทำ ให้เกิดข้อกังขาถึงความจริงใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาค ถึงแม้ผู้นำอาเซียนไม่ได้กล่าวแสดงความผิดหวังแต่ก็อยากเห็นสหรัฐฯ มาร่วมประชุมในครั้งหน้า สหรัฐฯ เป็นความหวังของหลายประเทศในการสร้างสมดุลย์ทางอำนาจใหม่ในภูมิภาคหลังจากที่จีนเข้ามีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากความมั่นคงแล้วที่ประชุมยังให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตงบประมาณ และยกระดับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ โดยในการหารืออาเซียนบวก 3 ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะให้เดินหน้าในการจัดตั้งกองทุนสำรองในภูมิภาคเพื่อความปลอดภัยทางการเงินที่ต่อเนื่องมาจากความริเริ่มเชียงใหม่
นอกจากนั้นยังอยากเห็นบทบาทของศูนย์ศึกษาระบบเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวก 3 ที่สิงคโปร์มีบทบาทมากขึ้นในการทำหน้าที่เตือนถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงต้องการให้มีการพัฒนาคนร่วมกันระหว่างอาเซียนกับ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน
ในขณะที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนย้ำว่าท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทั่วโลกกำลังจับตามองว่าเอเซียจะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่
การถอดข้อความที่ต้องการเห็นหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ออกจากแถลงการณ์แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่ยังคงมีอยู่มากในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม และหลายประเทศอาจต้องหยุดคิด โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการเปิดเขตการค้าเสรี (ทีพีพี) ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มซึ่งไม่สามารถผลักดันได้ในการประชุมครั้งนี้ ในขณะที่เลขาธิการอาเซียนได้แสดงความมั่นใจว่าพม่าซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าจะสามารถทำหน้าที่ได้ดี และประสบความสำเร็จ