ศธ.ยังไม่สรุปแนวคิดให้นักเรียนซ้ำชั้น
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายในการทบทวนการตกซ้ำชั้น โดยระบุว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้กำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน แต่ได้ตั้งประเด็นว่า การที่ไม่ให้เด็กตกซ้ำชั้นหรือซ้ำวิชา เป็นสาเหตุให้มีการปล่อยเด็กที่เรียนอ่อนมาก เช่น เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ผ่านขึ้นมาเรื่อยๆ จนมีจำนวนไม่น้อยที่เรียนจนจบมัธยมแล้วยังอ่านหนังสือไม่ได้
ดังนั้น ควรจะต้องมีการแก้ไข โดยเรื่องดังกล่าว ถือว่ามีความซับซ้อน ยุ่งยาก เพราะยังไม่มีมาตรการ ไม่มีระบบรองรับ สำหรับกรณีที่มีความเป็นห่วงว่าหากให้เด็กตกซ้ำชั้นจะทำให้เสียอนาคต เสียเวลา อาจจะมีทางออกอื่นด้วย โดยจะเป็นแนวทางใดนั้น จะต้องมีการระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง
ขณะที่ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุถึง การทดสอบวัดผลกลาง และการปรับปรุงยกร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการวัดประเมินผล เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ที่กำลังจะดำเนินการเท่านั้น ซึ่งในสัปดาห์หน้า จะมีการเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ต่างๆ
ด้านนายพฤกษ์ ศิริบรรณ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นในกรณีนี้ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการทดสอบวัดผลกลาง ด้วยการใช้ข้อกลางระดับชาติทั่วประเทศ แต่ไม่น่าจะใช้ในทุกระดับชั้น และหากจะใช้ก็ควรทำเป็นปีเว้นปีจะดีกว่า
นอกจากนี้ ข้อสอบกลางระดับชาติที่จะนำมาใช้ ควรจะปรับให้เป็นข้อสอบกลางของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแทน เพราะข้อสอบกลางระดับชาติมีข้อจำกัดที่จะสามารถวัดนักเรียนได้หลักสูตรแกนกลางเท่านั้น แต่ในปัจจุบันโรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนด้วย ซึ่งแต่ละแห่งก็อาจมีความแตกต่างกันตามบริบทของท้องถิ่น
ส่วนแนวคิดที่จะให้มีการซ้ำชั้นนั้นไม่เห็นด้วย อยากให้มีมาตรการอื่นๆ ในการแก้ปัญหาในเรื่องคุณภาพการศึกษา และการปล่อยเกรดเฟ้อ ซึ่งการนำระบบซ้ำชั้นมาใช้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไร แต่น่าจะใช้วิธีหากนักเรียนไม่ผ่านในรายวิชาใด ก็อาจให้สอบซ่อมในกรณีที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์แต่ไม่แย่มาก แต่กรณีที่แย่มากๆ ก็ควรให้เรียนใหม่เป็นรายวิชา เพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น