ความคุ้มค่าข้าวแลกรถไฟจากจีน
จีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และมีความสัมพันธ์กับไทยมานาน ซึ่งในหลายปีนี้ จีนให้ความสำคัญกับไทยเป็นพิเศษ สะท้อนจากการเยือนไทยของผู้นำระดับสูงของจีนในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ในการหารือแต่ละครั้ง มักจะมีเรื่องการพัฒนาระบบรถไฟ และความร่วมมือสินค้าเกษตรเสมอ เช่น การเยือนของนายสี จิ้น ผิง สมัยยังเป็นรองประธานาธิบดี มีการลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบรถไฟและระบบราง ขณะที่การเยือนของนายเวิน เจีย เป่า ก่อนลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีการหารือในเรื่องของการค้าข้าว รวมถึงการจะนำเข้าข้าวจากไทย
ขณะที่ภารกิจหลักเยือนไทยครั้งล่าสุด ของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ก็จะลงนามบันทึกความเข้าใจ 6 ฉบับ รวมถึงการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร แลกเปลี่ยนกับการลงทุนระบบรถไฟจากจีน
และในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ นายหลี่ จะเป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการ พัฒนาระบบเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ของบริษัท ไช่น่า เรลเวย์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดกระทรวงคมนาคมของจีน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง และเสนอตัวในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ระบุว่า เป็นตอกย้ำเจตนารมย์ของจีน ที่ต้องการลงทุนระบบรางในไทยอย่างจริงจัง ในฐานะประเทศยุทธศาสตร์เชื่อมโยงภูมิภาค
ขณะที่ไทยมีแนวคิด จะใช้ข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งค้างในสต็อกรัฐบาล ไม่ต่ำกว่า 16 ล้านตัน ชำระเป็นค่าลงทุนในระบบรางจากจีน แต่ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเชื่อว่า จีนไม่ต้องการแลกข้าวกับไทย แทนการจ่ายด้วยเงินตามวิธีปกติ
แนวคิดการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร มักถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งที่ สินค้าเกษตรล้นสต็อก แต่นับจากปี 2548 ทั้งกุ้งแลกเครื่องบินรัสเซีย ข้าวแลกน้ำมันอิหร่าน ลำไยแลกรถถังจีน ซึ่งเป็นเพียงครั้งเดียว ที่นำไปสู่การปฏิบัติแต่ล้มเหลว
แม้จีนเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 2 ของโลก แต่ปริมาณการส่งออกข้าวจากไทย ไปจีน เฉลี่ยปีละ 300,000 ตันเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ เป็นข้าวหอมมะลิ ส่วนข้าวขาว ซึ่งมีมากในสต็อกรัฐบาลนั้น จีนนิยมสั่งซื้อกับเวียดนาม เพราะ มีราคาถูกกว่าไทยมาก ทำให้ ผู้ส่งออก เป็นห่วงว่า การแลกสินค้าเกษตร ที่จีนไม่ต้องการปริมาณมากพอ อาจทำให้ไทยถูกกดราคาประเมิน จนต้องล้มเลิกแนวคิดนี้เช่น
แนวคิดการแลกเปลี่ยนสินค้าแบบต่างตอบแทนโดยไม่ใช้เงิน ถือเป็นวิธีโบราณ ซึ่งทั้งพ่อค้า และนักเศรษฐศาสตร์ต่างไม่ยอมรับ เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน การทุจริต และไม่คุ้มค่า แต่การผลักดันครั้งนี้ของรัฐบาล อาจถูกตั้งคำถามถึง ความพยายามระบายสต็อกสินค้าเกษตร จำนวนมหาศาลโดยเฉพาะข้าว