ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พท."ปฏิเสธ "ทักษิณ" เตรียมทำธุรกิจพลังงาน

การเมือง
16 ต.ค. 56
15:59
67
Logo Thai PBS
"พท."ปฏิเสธ "ทักษิณ" เตรียมทำธุรกิจพลังงาน

อดีตนายกรัฐมนตรี และส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเจตนาแก้มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง ลดอำนาจรัฐสภาและประชาชน หลังการอภิปรายและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 2 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ว.บางส่วน ยังคงตั้งข้อสังเกตถึงความเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านพลังงาน

การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้มาตรา 190 ว่าด้วยหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ในวาระที่ 2 และต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ยังคงอภิปรายและพิจารณาในรายละเอียดของมาตรา 3 ซึ่งบัญญัติสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องขอความเห็นชอบ

โดย ส.ว.ส่วนหนึ่ง อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า การแก้มาตรา 190 ครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการกระทำใด ๆ ในพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน และสุ่มเสี่ยงสูญเสียเขตแดน โดยเฉพาะการบัญญัติว่าหนังสือบางประเภทไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

เช่นเดียวกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเน้นย้ำเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดรัฐบาล รวมถึงการพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเชื่อว่า จะเป็นช่องว่างในการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

และช่วงบ่ายเกิดเหตุประท้วงกันของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ กรณีนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายหยิบยกคดีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ของนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาชี้ให้เห็นว่า สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และเป็นเหตุให้ไทยสูญเสียผลประโยชน์ รวมถึงอาจส่งผลต่อคำตัดสินคดีที่ค้างอยู่ในศาลโลก

ขณะที่นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงและร้องขอความเป็นธรรม ต่อกรณีพาดพิงถึงบุคคลนอกรัฐสภา และกล่าวว่า แม้ไทยจะไม่ลงนามในเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา ก็เชื่อว่ากัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารได้

ก่อนหน้านี้ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงปฏิเสธเจตนาแก้มาตรา 190 ว่ามีประโยชน์แอบแฝง และหวังลดอำนาจรัฐสภาและประชาชน พร้อมชี้แจงว่ารัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ จัดตั้งบริษัทลงทุนร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกรณีแก๊สธรรมชาติ ก็เป็นการสานต่อรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และเห็นว่าต่างกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปเจรจากับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า คนในครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคนในตระกูลชินวัตร ไม่มีบุคคลใดทำธุรกิจพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา หรือที่ใด ๆ ตามที่ถูกพาดพิงกล่าวหา ซึ่งการกล่าวว่า สนใจธุรกิจด้านนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำ หรือหากจะทำธุรกิจประเภทนี้ ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง