สภาฯสหรัฐฯเห็นชอบข้อตกลงวิกฤตงบประมาณ-เปิดทำการหน่วยงานรัฐ พ้นภาวะผิดชำระหนี้
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติด้วยคะแนน 285 ต่อ 144 รับรองร่างกฏหมายอนุมัติงบประมาณให้หน่วยงานภาครัฐ และยืดระยะเวลาขยายเพดานหนี้เป็นการชั่วคราว ที่ตัวแทนวุฒิสภาของสหรัฐฯเจรจาจนได้ข้อตกลงไปก่อนหน้านี้ และวุฒิสมาชิกลงมติรับรองด้วยคะแนน 81 ต่อ 18 ไปก่อนหน้านี้ มติของสภาคองเกรสช่วยทำให้สหรัฐฯไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และสามารถเปิดทำการหน่วยงานภาครัฐได้
ทันทีที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามในกฏหมายดังกล่าว ซึ่งคาดว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องหยุดงานไปก่อนหน้านี้ จะกลับเข้าทำงานได้ทันทีในเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น การผ่านร่างครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนจะถึงเส้นตายขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่งหลังจากที่วุฒิสภาลงมติรับร่างดังกล่าว ประธานาธิบดีโอบาระบุว่า เขาพร้อมจะลงนามในกฏหมายทันทีที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างดังกล่าว
ขณะที่นายจอห์น เบนเนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกัน ออกมากล่าวยอมรับว่าสมาชิกพรรครีพับลิกัน พยายามอย่างที่สุดแล้วในการจะลดการกู้ยืมหนี้สินของภาครัฐ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล แต่ก็ไม่ชนะปัญหาต่างๆ ยังไม่คลี่คลายทั้งหมด เนื่องจากกฏหมายที่เพิ่งผ่านการรับรองไป เป็นเพียงการอนุมัติงบประมาณให้หน่วยงานภาครัฐเปิดทำการได้จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2557 และยืดระยะเวลาเพดานหนี้จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เท่ากับว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ทั้งสมาชิกของทั้งสองพรรคการเมืองจากสภาคองเกรส จะต้องส่งตัวแทนเจรจาต่อรอง เพื่อผลักดันงบประมาณปี 2557 ฉบับเต็ม และเจรจา เพื่อการขยายเพดานกู้ยืมเงินของรัฐบาลสหรัฐฯให้บรรลุผล
โดยกำหนดกรอบคร่าวๆในวันที่ 13 ธันวาคม เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการนี้อีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีโอบามา ประกาศยืนยันจะไม่ได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก นอกจากนี้ บรรดาผู้แทนราษฎรควรจะต้องฟื้นความเชื่อใจจากประชาชน ให้กลับคืนมา เนื่องจากวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในสภาคองเกรส อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีรายงานว่าผู้แทนของพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ รวมทั้งส.ว.บางส่วนของพรรคยอมรับข้อตกลงนี้อย่างเสียไม่ได้ แต่สำหรับตลาดหลักทรัพย์กลับตอบรับข่าวดีนี้ และปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกือบร้อยละ 1.4
เช่นเดียวนางคริสตีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ออกมาชื่นชมที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ฝ่าวิกฤตผ่านพ้น วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เงินหายไปจากระบบไม่น้อยกว่า 24,000 ล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 740,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสสุดท้ายปรับตัวลดลง และยังสร้างความอับอาย และทำให้ความเชื่อมั่นของสหรัฐฯในสายตาชาวโลกลดน้อยลง โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของสหรัฐฯ อย่างจีนและญี่ปุ่น ที่ต่างแสดงความไม่สบายใจ และหงุดหงิดกับปัญหาขัดแย้งทางการเมืองของบรรดานักการเมืองสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างฟิทช์ เรตติ้ง ที่เตือนจะลดความน่าเชื่อถือระดับทริปเปิ้ล A (AAA) ของรัฐบาลสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากวิกฤตนี้