การใช้ดนตรีส่งเสริมการท่องเที่ยวของอังกฤษ
การทำลายสถิติจำหน่ายตั๋วของเทศกาลดนตรี Glastonbury ในปี 2014 ที่บัตรเข้าชมราคากว่า 10,000 บาท จำนวน 120,000 ใบ ถูกจำหน่ายหมดภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงครึ่ง ยืนยันถึงความสนใจของแฟนเพลงต่อการชมเทศกาลดนตรีในประเทศอังกฤษ เมื่อรายงานเผยว่าปี 2012 อังกฤษทำเงินจาก music tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงดนตรีเป็นเงินถึง 11,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
Visit Britain หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยว่าปี 2012 มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เดินทางเพื่อมาชมการแสดงดนตรีในอังกฤษรวมกันกว่า 6.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 41 ของผู้ชมคอนเสิร์ตตลอดปีที่ผ่านมา ทำเงินเข้าประเทศจากการขายตั๋วคอนเสิร์ต, ค่าเดินทาง และที่พักรวม 65,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกกว่า 45,000 ล้านบาท และสร้างงานให้กับคนในชาติได้กว่า 24,000 ตำแหน่ง
แต่สถิติเผยว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเป็นคนในประเทศ ขณะที่สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ทาง VisitBritain จึงเสนอแนวคิดในการแต่งตั้งศิลปินชื่อดังของอังกฤษให้เป็นทูตสนับสนุนการ ท่องเที่ยวเชิงดนตรีให้กับบ้านเกิดของตนเอง หลังเมืองลิเวอร์พูลประสบความสำเร็จจากโครงการ Beat In The Mersey ที่ใช้มรดกทางดนตรีของเมืองส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยกรุงลอนดอนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 1.8 ล้านคนเมื่อปี 2012 โดยมีดีว่าอันดับหนึ่งอย่าง อาเดล เป็นตัวเลือกที่ได้รับการจับตา, แมนเชสเตอร์ ถิ่นกำเนิดวงอินดี้มากมาย มีตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างวง Stone Roses ยอดวงอินดี้ที่คอนเสิร์ตของวงทำเงินให้กับเมืองถึงพันล้านบาท, เชฟฟิลด์ ถิ่นกำเนิดกระแสซินธ์ป็อป มีคนดังอย่าง อเล็กซ์ เทอร์เนอร์ นักร้องนำผู้ทำให้วง Arctic Monkeys โด่งดังไปทั่วโลก ส่วนเบอร์มิ่งแฮม ดินแดนภาคกลางซึ่งเป็นต้นกำเนิดของดนตรีเมทัลมี ออซซี ออสบอร์น นักร้องนำวง Black Sabbath เป็นผู้ที่สื่อมองว่าสามารถใช้ชื่อเสียงสนับสนุนการท่องเที่ยงเชิงดนตรีได้อย่างดี
เอ็ด เวซีย์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของอังกฤษ ชี้ว่าความนิยมของเทศกาลดนตรี Glastonbury ที่เพิ่มขึ้นทุกปี แสดงถึงศักยภาพของวงการดนตรีอังกฤษที่มีต่อเศษรฐกิจของชาติ ซึ่งรัฐบาลจะยังคงให้การสนับสนุนการเติบโตของวงการเพลงและการท่องเที่ยวต่อไป