ภูมิปัญญา
แม้ในหน้าฝนอาจได้ผลผลิตจากตาลไม่มากเท่าฤดูอื่นๆ แต่เตาเคี่ยวตาลหลังบ้านของบรรจง นุชอ่อง ชาวบ้านไร่กร่าง จ.เพชรบุรี จะถูกติดแทบทุกวัน เพราะการทำน้ำตาลคือรายได้ครอบครัว ไม่น้อยกว่า 3 ชม.กว่าที่น้ำตาลสดจะงวดจนกลายเป็นน้ำตาลสำหรับปรุงรส เครื่องหวานเลื่องชื่อของเมืองเพชรบุรี
การต้องเสี่ยงปีนตาลโตนดต้นสูงแทบทุกวัน ทำให้ชายวัย 54 ปี ชลอ นุชอ่อง ต้องเตรียมพะองหรือบันไดพาดกับลำต้นที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ ไม้ไผ่ใหญ่ ลำยาว แต่งกิ่งเพื่อไต่ขึ้นไปปาดตาล ได้จากป่าในพื้นที่ ถือเป็นภูมิปัญญาที่ทำต่อกันมา สิ่งสำคัญคือต้องมัดพะองติดลำต้นอย่างแน่นหนา และสำรวจความมั่นคงก่อนปีนทุกครั้ง การทำพะอง เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับคนปีนตาล หากหลายปีที่ผ่านมา กลับมีผู้สืบทอดอาชีพนี้ไม่มาก จากปัจจัยหลายด้าน
ตาลโตนด เป็นอีกไม้ประจำถิ่นในพื้นที่เพชรบุรี ที่ให้ผลและน้ำตาลรสหวานหอมธรรมชาติ ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน อีกทั้งยืนต้นได้นานเป็น 100 ปี ระยะหลังป่าตาลลดลงจากการยืนต้นตายเพราะแช่น้ำที่ชาวบ้านบางพื้นที่ทำนาทั้งปี และบางส่วนตัดไม้ตาลแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ จึงมีความพยายามของทุ่งนาป่าตาลหลายแห่ง ปลูกตาลทดแทน และจัดเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ หวังให้เห็นคุณค่าจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ