นักวิชาการ ยืนยัน
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยืนยัน ระดับหนี้ภาคครัวเรือนไทยที่ร้อยละ 79 ของจีดีพีในปัจจุบัน ยังไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า หนี้ดังกล่าวมีแนวโน้มที่ลดลง แต่หากรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้ระดับหนี้ภาคครัวเรือนกลับมาสูงได้อีก
หลังธนาคารแห่งประเทศไทยระบุหนี้ภาคครัวเรือนของไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 50 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 79 ของจีดีพี หรือประมาณ 9 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าจีดีพีปัจจุบันอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท ล่าสุดยูบีเอส วาณิชธนกิจของยุโรประบุว่า ระดับหนี้กลุ่มนี้ อาจเป็นซับไพร์ม หรือปัญหาสินเชื่อที่เกิดกับคนระดับล่างของไทย
เช่นเดียวกับมูดี้ส์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับของต่างประเทศเปิดเผยว่า หนี้ภาคครัวเรือนและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นของไทย ได้เพิ่มความเปราะบางให้กับภาคธนาคาร ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลับบอกว่า ระดับหนี้ภาคครัวเรือนไทยในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากส่วนใหญ่ เป็นหนี้เก่าคงค้าง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา หนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐสิ้นสุดลด
ขณะที่ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น ส่งผลหนี้ครัวเรือนปรับลดลง แต่หากภาครัฐกลับมากระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในอนาคต ก็เชื่อว่า จะทำให้หนี้ดังกล่าวกลับมาสูงขึ้นได้อีก