<"">
ผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ ไม่เฉพาะเจ้าของสวนยางเท่านั้น แต่แรงงานกรีดยาง เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด เพราะเจ้าของสวนยางบางราย ลดต้นทุนการผลิตโดยการไม่จ้างแรงงานกลุ่มนี้ในกรีดยาง ขณะที่การช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาทจากภาครัฐ ก็ให้สำหรับเจ้าของสวนยางเท่านั้น
อุไรรัตน์ เพชรรัตน์ แรงงานกรีดยางพารา อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา นำน้ำยางสดมาขายยังจุดรับซื้อน้ำยาง ในหมู่บ้าน แม้ราคายางพารา ทั้งน้ำยางสด และยางแผ่นดิบ จะปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง อุไรรัตน์บอกว่า แม้จะได้ส่วนแบ่งจากการกรีดยาง ร้อยละ 40 จากเจ้าของสวนยาง แต่ราคายางที่ปรับลดลง ทำให้รายได้หายไปมาก รายได้ในแต่ละวันจึงแทบจะไม่เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว
เจ้าของสวนยางพารา ที่จำเป็นต้องจ้างแรงงานกรีดยาง ซึ่งแม้จะอยู่ในฐานะเจ้าของสวนยางพารา หรือเถ้าแก่ ก็ต้องแบกภาระต้นทุนทั้งหมดที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย และสารเคมี และเพื่อความอยู่รอดจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว ด้วยการนำผลผลิตการเกษตรอื่น ๆ ที่ปลูกแซมสวนยางมาขายในท้องตลาด
ขณะที่เจ้าของสวนยางบางรายลดต้นทุนไม่จ้างแรงงานกรีดยาง แต่หันมากรีดยางด้วยตัวเอง แต่ก็ได้รับผลกระทบจากราคายางที่ลดลงเช่นเดียวกัน และกังวลว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ จะไม่มีเงินสำรองเลี้ยงดูครอบครัว จึงมองว่า หากรัฐบาลช่วยพยุงราคายางให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ชาวสวนยางพาราก็จะได้รับอานิสงค์อย่างทั่วถึง
ขณะนี้ ราคายางในท้องตลาดเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-74 บาท ซึ่งเกษตรกรบอกว่า เป็นราคาที่พอประทังชีพไปแบบวันต่อวันเท่านั้น จึงกังวลว่า ในช่วงฤดูปิดกรีดและฤดูฝน ซึ่งยาวนานร่วม 4 เดือน จะหารายได้จากแหล่งใดมาสำรองใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล จึงควรครอบคลุม และยั่งยืน โดยเฉพาะการหาแนวทางในการกระตุ้นราคา เพราะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของโลก