เรียกร้องอุปกรณ์สำหรับหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด
เหล็กแหลมลักษณะเดียวกับเหล็กเสียบใบไม้ ถือเป็นอุปกรณ์หลักอีกอย่างหนึ่งที่ ชุดเก็บกู้และทำลายระเบิด หรือชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง (หกศูนย์) จ.นราธิวาส ใช้เดินสำรวจหาระเบิดที่อาจหลงเหลือ ริมถนนในต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ ตรงจุดที่ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ หัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลาย เสียชีวิตพร้อมเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน นอกเหนือจากเครื่องตรวจโลหะ และรถตัดสัญญาณ
อุปกรณ์ที่มีจำนวนจำกัด เพราะการเก็บกู้ระบิดแต่ละครั้ง อุปกรณ์ที่มีอยู่มักได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีอุปกรณ์ใหม่มาทดแทน รวมถึงชุดบอมบ์สูท แม้จะช่วยป้องกันไว้ได้มากหากสวมใส่ แต่พบว่ามีความเหมาะกับการเก็บกู้เฉพาะในพื้นที่ราบ แต่หากเป็นพื้นที่ลาดชั้นอย่างริมถนน ทำให้ไม่คล่องตัว จนกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน
ร.ต.ต.พลวัฒน์ เทพษร หนึ่งในหัวหน้าทีมเก็บกู้และทำลายระเบิดตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ยอมรับว่าการสูญเสียร้อยตำรวจตรีแชน ที่เปรียบเสมือนมือหนึ่งในการเก็บกู้ระเบิด ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุหึกเหิม พุ่งเป้ามาทำร้ายชุดเก็บกู้มากขึ้น นอกจากเครื่องมืออุปกรณ์แล้ว สิ่งสำคัญร่างกายและจิตใจ ต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ
เดิมที่ชุดเก็บกู้และทำลายระเบิดตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 23 นาย มีการจัดแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ทีม เพิ่งมาเสียชีวิตลง 3 นาย บาดเจ็บสาหัสนอนพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจากเหตุก่อนหน้านี้อีก 3 นาย เคยมีเครื่องตรวจโลหะเพียง 3 เครื่อง ได้รับความเสียหายไปแล้ว 1 เครื่อง รถตัดสัญญาณ 3 คัน ได้รับความเสียหายแล้ว 1 คัน และบอมบ์สูทอีก 2 ชุด สิ่งที่พวกเขาร้องขอจากผู้บังคับบัญชาเพิ่ม คือเครื่องตรวจโลหะ อีก 3 เครื่อง และรถตัดสัญญาณอีก 3 คัน เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน โดยเฉพาะเครื่องตรวจโลหะที่มีราคาซื้อขายกันเพียงเครื่องละ 40,000-50,000 บาท เคยมีผู้บังคับบัญชาอ้างว่า เป็นเครื่องยุทธภัณฑ์ต้องมีการจัดซื้อย่างเป็นระบบ ในความเป็นจริงชาวบ้านทั่วไปยังสามารถหาซื้อไว้ใช้ตรวจหาโลหะทอง ตามแนวชายหาด
การออกมาให้สัมภาษณ์ของพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตรเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า ได้มีการจัดเครื่องมืออุปกรณ์ให้กับตำรวจและทหาร ชุดเก็บกู้และทำลายระเบิดในพื้นที่สามจังหวัดชายภาคใต้ ไปก่อนหน้านี้ ได้กลายเป็นความหวัง เพื่อเสริมกำลังใจในการทำงานมากขึ้น โดยไม่ฝันไปไกลถึงจะมีหุ่นยนต์เข้ามาเก็บกู้แทนคน