<"">
ความหลงใหลชีวิตริมน้ำที่แสนสงบบนเรือเอี้ยมจุ้นตั้งแต่แรกเห็น ทำให้เรือบรรทุกสินค้าชนิดนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ในผลงานศิลปะของศิลปิน วรสันต์ สุภาพ มาตลอด 25 ปี และนิทรรศการล่าสุดของเขายังคงบันทึกภาพในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงความสุขของชาวเรือบนแม่น้ำเจ้าพระยา
ภาพสาวๆ นุ่งผ้าอาบน้ำ ล้างถ้วยล้างชาม หรืออธิษฐานในวันลอยกระทง วิถีผู้คนท้ายเรือลำใหญ่ที่เรียงรายเต็มแม่น้ำเจ้าพระยา อาจไม่คุ้นตาคนยุคใหม่ หาก วรสันต์ สุภาพ เขียนขึ้นจากความประทับใจในความสุขสงบของชาวเรือ ตั้งแต่แรกเห็นเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว
ภาพฝูงเรือเอี้ยมจุ้นที่ด้านหน้าใช้ขนสินค้า ส่วนท้ายเรือเป็นที่อาศัย จงใจให้แสงไฟในเรือสร้างจุดเด่นและเผยให้เห็นชีวิตภายใน ความใส่ใจในรายละเอียดทุกตารางนิ้ว ทำให้ภาพสีน้ำมันทั้ง 18 ชิ้น ใช้เวลาสร้างสรรค์ถึง 5 ปีเต็ม หวังให้ผู้ชมชาวไทยและชาวต่างชาติสัมผัสชีวิตริมน้ำหาชมได้ยากในวันนี้ จัดแสดงในนิทรรศการ ชีวิตสายน้ำ
วรสันต์ สุภาพ ศิลปิน กล่าวว่า ผมเป็นศิลปินผมชอบชีวิตชาวเรือมาก มันสงบร่วมเย็น กระโดดน้ำ ไม่มีโฉนด ไม่มีขอบเขต เค้าไปได้ทุกที่ พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน คนรวยกินข้าวก็วอหากัน นี่คือวิถีชีวิตทุกคนเกิดแก่เจ็บตายในเรือ ความหมายของชีวิตผมว่ามันสำคัญ
ศิลปินอย่างพี่วรสันต์ ก็ตระเวนถ่ายภาพเรือเอี้ยมจุ้นด้วยตัวเอง ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้ว เพื่อเอามาเป็นแบบในการวาดรูป แต่ว่าน่าเสียดาย วันนี้ก็ไม่ได้เอามาให้พวกเราดู เพราะว่าภาพถ่ายมากมายเหล่านี้หายไปตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่แล้ว ก็ทิ้งไว้แต่ผลงานศิลปะที่จะถือว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งการวาดภาพเรือชนิดนี้มาตลอด 25 ปี ทุกวันนี้ไม่ต้องใช้ภาพถ่ายมาเป็นแบบในการวาดรูปแล้ว ใช้การวาดออกมาจากจินตนาการเลย
รูปทรงของเรือจำได้ขึ้นใจ หากการวาดวิถีคนริมน้ำให้สมจริงยังต้องอาศัยนางแบบ ส่วนหลังคาเรือที่ยิ่งกระทบแสงไฟยิ่งดูคล้ายสังกะสี เกิดจากการใช้พู่กันอุ้มเนื้อสีไว้ให้หนา แล้วค่อยๆ แต้มจุดจนเป็นเส้นยาวสร้างมิติ และอีกเทคนิคสำคัญคือการลงสีขาวเทาดำในชั้นแรก เพื่อคุมน้ำหนัก วรสันต์ สุภาพ รู้สึกโชคดีไม่น้อยที่เกิดในยุคที่เรือเอี้ยมจุ้นยังมีให้เห็น จากความหลงใหลกลายลายเซ็นบนงานศิลป์ ทำหน้าที่บันทึกอดีตสู่สายตาคนรุ่นหลัง
วรสันต์ สุภาพ ศิลปิน กล่าวว่า มันเปลี่ยนก็ช่วยไม่ได้เพราะมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป แต่ผมทำงานศิลปะทำให้คนดูได้ ผมก็ยังโชคดีที่ยังเห็นเรือ และทำให้คนดูงานได้อานิสงส์ เห็นอย่างที่ผมเห็น
ฉากหลังที่มักเห็นวัดพระแก้ว ตั้งใจสื่อความเป็นไทย อาศัยโทนสีแตกต่างบ่งบอกช่วงเวลา อย่างสีอมฟ้าแทนช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือสีเหลืองทอง แทนบรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกดิน แม่น้ำสายหลักที่ถูกวาดให้ใสสะอาดยังหวังใช้ความงามนี้ สร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม นิทรรศการ ชีวิตสายน้ำ จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้