ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลกระทบแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ถูกนำมาเชื่อมโยงคดีปราสาทพระวิหาร

การเมือง
12 พ.ย. 56
14:05
92
Logo Thai PBS
ผลกระทบแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ถูกนำมาเชื่อมโยงคดีปราสาทพระวิหาร

นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการชุมนุม และอาศัยช่องทางการพูดคุย เพื่อคลี่คลายผลกระทบที่จะเกิดกับบ้านเมือง และชี้ว่า หลายข้อเรียกร้องนั้นประชาชนได้คำตอบไปแล้ว ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนามประธานกองทัพธรรม และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ยังเดินหน้าคัดค้านคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร

การลงมติเห็นชอบผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 190 กรณีหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ฝ่ายหนึ่งลงมติเห็นชอบ 381 เสียง พร้อมกับบอกว่าสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ถูกลดความเชื่อมั่นลงเพราะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ต้องฟังเหตุผลของอีกฝ่ายด้วย นั่นคือฝ่ายที่ลงมติไม่เห็นชอบ 165 เสียง ซึ่งเชื่อว่า การแก้ไขครั้งนี้มีนัยยะแฝงอยู่

ขณะที่ศาลโลกอ่านคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในกระบวนการประกาศให้มีผลบังคับใช้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 ว่าด้วยนายกรัฐมนตรีต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน แต่มีรายงานว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขมาตรา 190 กำลังจะเป็นประเด็นใหม่ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะอ้างอิงเป็นเงื่อนไข หลังเลขาธิการ สมช.บอกว่า 2 เงื่อนไขเดิมจบลงแล้ว

ประเด็นใหม่กำลังจะถูกจุดขึ้น โดยเฉพาะมวลชนที่อยู่ภายใต้การนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนามกองทัพธรรม และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ประกาศเดินหน้าคัดค้านคำตัดสินของศาลโลก และคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ด้วยกระแสปกป้องรักษาอธิปไตยไทย

มาตรา 190 ถูกปรับแก้เปลี่ยนแปลงใหม่ โดยเพิ่มถ้อยคำว่า "โดยชัดแจ้ง" ไว้หลังการกำหนดให้หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับเขตอำนาจ ตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเจตนา อาจเจาะจงให้ชัดเจนขึ้น แต่อีกนัยก็ตีความได้ว่าเป็นการทวงถามเอกสารหลักฐานหากไม่ชี้ชัดก็ไม่เข้าข่ายต้องขอความเห็นชอบ

ขณะเดียวกันก็ตัดความที่ว่าด้วยหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมอย่างกว้างขาง และมีผลผูกพันธ์ด้านการค้าการลงทุน รวมถึงงบประมาณทิ้งแล้วปรับแก้ "ให้เป็นหนังสือสัญญาการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน"แทน และยังตัดความ ที่ว่าด้วยกระบวนการรับฟัง และขั้นตอนการขอความเห็นชอบออกทั้งหมด แล้วปรับแก้ให้เป็นการตรากฎหมายขึ้นใหม่ว่าด้วยการเข้าถึงหนังสือสัญญา และการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

การตัดความทิ้ง-ปรับแก้ และเพิ่มความใหม่ ในมาตรา 190 เกิดขึ้นท่ามกลางข้อสังเกตว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้กฎหมาย สนธิสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับ ต้องเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และกลายเป็นการเชื่อมต่อประเด็นในคดีปราสาทพระวิหาร เข้ากับกระแสรักษาอธิปไตย รวมถึงการผูกโยงเรื่องธุรกิจพลังงาน ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเอ่ยปากสนใจ ผูกพันกับเรื่องความมั่นคงและทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จึงเป็นเงื่อนไขใหม่ แต่ยังคงเกิดจากเหตุแห่งความไม่ไว้วางใจรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง