แกนนำชุมนุมเวทีราชดำเนินเตรียมประเมินผลสำเร็จอารยะขัดขืน 15 พ.ย.นี้
การชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่สถานีรถไฟสามเสน ก่อนที่จะย้ายเวทีไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน นับถึงวันนี้ก็เป็นการชุมนุมวันที่ 14 แล้ว และวันนี้ก็เป็นวันแรกที่การชุมนุมใช้มาตรการอารยะขัดขืน แกนนำยังไม่สามารถประเมินผลสำเร็จของแนวทางนี้ได้ โดยจะประเมินในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายนก่อนจะประกาศมาตรการอื่นต่อไป
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า การชุมนุมตามแนวทางอารยะขัดขืนในวันแรกของการชุมนุมเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินถูกประเมินจากแกนนำการชุมนุมคือนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งเป็นโฆษกของที่ชุมนุมว่าเป็นที่น่าพอใจ แม้จะไม่เห็นจำนวนผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ จากการนัดหยุดงานที่เป็นแนวทางที่สามารถชี้วัดความรูปธรรรมได้มากที่สุดก็ตาม แต่คณะแกนนำเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย โดยยังคงยืนยันว่าจะดำเนินการตามแนวทางอารยะขัดขืนต่อไป เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางสันติวิธีที่ไม่จะไม่ทำให้เกิดความสูญเสีย และหวังว่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะประกาศมาตรการกดดันรัฐบาลเพิ่มขึ้น
ส่วนคำถามต่อแนวทางอารยะขัดขืนที่เกิดคำถามว่าจะนำไปสู่เป้าหมาย เพื่อทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หายไปจากสารบบของสภาได้อย่างไร นายเอกนัฏเชื่อว่าจะเห็นผลหากประชาชนตอบรับ โดยระบุว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหาทางออกให้กฎหมายนิรโทษกรรมหายไป แม้จะติดล็อค 180 วัน หลังวุฒิสภาไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วก็ตาม
ด้านเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 โดยย้ายสถานที่ไปแถลงที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก โดยแถลงว่านายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบกไม่ควรให้สัมภาษณ์ในประเด็นปราสาทพระวิหารว่าไทยไม่สูญเสียดินแดน เพราะยังไม่ชัดเจนในคำพิพากษาของศาลโลก และอาจมีผลผูกพันในอนาคต จึงมีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ คือขอให้ไปดำเนินการในเชิงรับคำพิพากษาของศาลโลก, ตั้งคณะทำงานจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมมาศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาให้นำข้อตกลงต่างๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับกรณีนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ต้องทำประชามติหากมีการดำเนินการใดที่เกี่ยวข้องกับเขตแดน, ให้ยุติการทูลเกล้าทูลกระหม่อมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190, ให้มีการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ และต้องเร่งดำเนินการตามหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อส่งตัวนักโทษระหว่างไทยกับกัมพูชากรณีนายวีระ สมความคิด ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้
ส่วนการที่นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัดไปร่วมกับกลุ่มที่เรียกว่าผู้ก่อการปฏิวัติ ทางคปท.ถือเป็นสิทธิของนายสมเกียรติ แต่จะไม่แสดงความเห็นต่อแนวทางของกลุ่มดังกล่าว
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีการอภิปรายเกี่ยวกับคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร โดยเน้นไปที่การตำหนิรัฐบาล และกองทัพว่ามีความพยายามไม่เพียงพอในการรักษาอธิปไตยของประเทศ และไม่พยายามสร้างความกระจ่างในข้อมูลเชิงวิชาการในประเด็นปราสาทพระวิหาร
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตามองสำหรับการชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่าจะสามารถกดดันรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน ก็คือเสียงตอบรับจากประชาชนต่อแนวทางอารยะขัดขืน ซึ่งในวันนี้ แกนนำหลายคนเองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย และอาจจะต้องรอจนถึงวันศุกร์ที่จะประเมินต่อไปว่าจะสามารถประกาศมาตรการใดๆ ต่อไปได้หรือไม่