นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรผ่านโครงการรับจำนำ โดยได้ระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลเพาะปลูก 2556/57 ว่า ขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เริ่มจ่ายเงินรับจำนำข้าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศิจกายน เป็นต้นไป โดยให้ชาวนาติดต่อประสานงานกับ ธ.ก.ส.ได้ทันที
ส่วนโครงการรับจำนำข้าว ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ออกแถลงการณ์ เสนอให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว และใช้วิธีจ่ายเงินตรงกับชาวนา เพื่อลดภาระการคลัง และปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากจะทำให้เป็นภาระทางการคลังของประเทศ กรณีนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาลที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ส่วนคำแถลงการณ์ของไอเอ็มเอฟถือเป็นความเห็นที่ต้องรับฟัง แต่ยังไม่ต้องปฏิบัติ เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศ อีกทั้งโครงการรับจำนำข้าวยังทำให้ชาวนา เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และได้ประโยชน์จึงต้องเดินหน้าโครงการต่อไป
ตรงข้ามกับความเห็นของ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่แสดงความเห็นว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่รับซื้อข้าวเปลือก ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากถึงร้อยละ 40 กำลังสร้างปัญหามากมาย ถือเป็นโครงการที่ล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนความเห็นของไอเอ็มเอฟนั้น ไม่ได้เป็นการก้าวก่ายประเทศไทย แต่ไอเอ็มเอฟกลัวปัญหาที่จะตามมา
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุกานดา ลูวิส อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า รัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากงบประมาณที่ต้องดำเนินโครงการใช้ต้นทุนดำเนินโครงการสูงที่สุด ซึ่งรัฐบาลยังมีแนวทางอื่นที่สามารถดำเนินการได้ หากต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อยจริง
สำหรับโครงการนี้เป็นภาระผูกพัน และหนี้สินที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 คือหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ที่ร้อยละ 53 ซึ่งตัวเลขนี้ต้องไม่มีโครงการอื่นเพิ่มเติม และหากรัฐบาลบริหารจัดการไม่ดีอาจมีผลต่อวินัยการคลังได้