จากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าในไตรมาส 2 ของปีนี้ (2556) ยอดสินเชื่อกู้ยืมภาคครัวเรือนกับสถาบันการเงิน คงค้างกว่า 9 ล้านล้านบาท สูงกว่า 15 % จากปีที่ผ่านมา (2555) เนื่องจากใช้ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และมาตรการรถคันแรก ขณะที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ก็ออกมาระบุตรงกันว่า มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้มีมากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินควรตรวจสอบประวัติการชำระหนี้อย่างเข้มงวด เพื่อลดปัญหาหนี้เสีย
ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ชี้ว่า ขณะนี้มีสัญญาณลูกหนี้ที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต้องตรวจสอบข้อมูลของลูกหนี้ถี่ขึ้น จากปีละครั้งเป็น 3เดือนครั้งเพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย ขณะที่ลูกจ้างยอมรับว่ารายได้ในแต่ละเดือน แทบไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จึงต้องพึ่งพาการกู้เงิน และจำเป็นต้องหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้
กว่า 8 เดือนแล้ว ที่นายอำนาจ อุดมลาภ ช่างภาพบริษัทเอกชนที่ขณะนี้มีภาระผ่อนรถยนต์เพิ่มขึ้น โดยรถที่ซื้อมาจากการใช้สิทธิ์โครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล แต่ละเดือนจึงต้องแบ่งเงินเดือนกว่าครึ่งจ่ายเป็นค่างวดรถและ ค่าน้ำมันเพื่อเดินทางมาทำงาน ที่เหลืออีกครึ่งใช้จ่ายประจำ ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร รวมถึงหนี้บัตรเครดิต ซึ่งแต่ละเดือนเงินแทบไม่พอใช้
รายได้จากอาชีพหลัก ในการเป็นช่างภาพอยู่บริษัทเอกชน เริ่มจะเพียงพอ ทำให้อำนาจต้องหาอาชีพเสริมด้วยการรับจ้าง ถ่ายภาพนิ่ง เช่น งานแต่งงาน งานรับปริญญา ในช่วงวันหยุด
นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องพยายามหารายได้เพิ่มเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับครอบครัว ข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือ เครดิต บูโร ชี้ว่าขณะนี้ลูกหนี้ที่เริ่มผิดชำระหนี้และค้างชำระไม่ถึง 3 เดือน เช่นชำระแบบเดือนเว้นเดือน มีเพิ่มขึ้น จาก 5 % เป็น 6 % และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนได้ว่ามีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น จึงทำให้สถาบันการเงินขอตรวจสอบประวัติการชำระเงินเพิ่มขึ้น
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บ.เครดิต บูโร ระบุว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่สิ่งที่สำคัญที่คนยุคใหม่ ต้องตระหนักคือ ออมเงินก่อนกู้ ใช้จ่ายในยามจำเป็น และมีวินัยในการใช้หนี้ เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน อาจจะกระทบกับความชำระหนี้