ความเห็นต่างนักวิชาการ กรณีทางออกสถานการณ์การเมือง
หลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่องถึงทางออกในสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีการวิเคราะห์ถึงแนวทางและข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ซึ่งนักวิชาการหลายคน ยังให้ข้อมูลความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ตัวอย่างจาก 2 เวทีของนักวิชาการ ที่วิเคราะห์ถึงทางออกของสถานการณ์ในขณะนี้ ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งก็คือ ความเห็นของ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ที่สนับสนุนกระบวนการของ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.. เพราะเชื่อว่า จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีสิทธิเสรีภาพที่ดีกว่าเก่า แต่ก็ยอมรับว่า การที่ประชาชนจะสามารถปฏิวัติได้เป็นเรื่องยาก
ส่วนความเห็นของ รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการแสดงความเห็นในนามของ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป. ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการจากหลายสถาบัน ซึ่งได้แสดงจุดยืนร่วมกันโดยมีข้อเรียกร้องให้ เคารพกติกาประชาธิปไตย ให้เข้าสู่การเลือกตั้ง และไม่มอบอำนาจให้คนกลางด้วยกระบวนการตั้งสภาประชาชน โดยเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่เข้าหลักรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องหลักประชาธิปไตย นิติธรรม เป็นการเข้าสู่การรัฐประหาร และการวินิจฉัยของศาลไม่เข้าสู่อำนาจในการวินิจฉัย
นอกจากความเห็นของ 2 นักวิชาการ ยังมีความเห็นจาก พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่มองว่า ขณะถึงเวลาแล้วที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องหันหน้าคุยกัน โดยเห็นว่า ทั้งฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ควรนำแนวทางปฏิรูปของแต่ละฝ่ายมาหารือ เพื่อยกขึ้นมาเป็นแนวทางบริหารประเทศ หากปล่อยให้สถานการณ์ยังคงยืดเยื้อก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายสถานการณ์ ที่ส่อเค้าว่าอาจส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงได้ เช่น กรณีการชี้มูลความผิดขององค์กรอิสระ ซึ่งอาจนำไปสู่การประกาศยุบพรรค เนื่องจากอาจถูกตั้งคำถามว่า การพิจารณาเรื่องใดๆ ในระยะนี้ อาจส่งเสริมให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น