กระแสติวเตอร์คนดังของฮ่องกง
โปสเตอร์ใบหน้าคนดังที่ปิดตามที่สาธารณะในฮ่องกงเหล่านี้ อาจทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกวดจากรายการเรียลิตี้ โชว์ชื่อดัง แต่สำหรับนักเรียนมัธยมในฮ่องกงแล้ว บุคคลเหล่านี้คือใบหน้าที่เป็นความหวังสูงสุดในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะพวกเขาคือติวเตอร์สอนกวดวิชาในฮ่องกง ผู้กำลังมีชื่อเสียง และทำเงินได้อย่างมหาศาล ในดินแดนที่การแข่งขันด้านการศึกษาเป็นไปอย่างสูง
ความนิยมกวดวิชาของเยาวชนฮ่องกงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีก่อน เมื่อสำนักงานด้านการศึกษาของฮ่องกงประกาศลดการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจาก 2 ครั้งเป็นครั้งเดียว เพื่อหวังลดความเครียดของนักเรียน แต่การสอบเอ็นทรานซ์แค่วันเดียวกลับถูกวิจารณ์ว่ายิ่งเพิ่มความกดดันแก่ผู้สอบขึ้นไปอีก การแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ปัจจุบันเด็กมัธยมเกือบ 3 ใน 4 ของฮ่องกงต่างสมัครกวดวิชากันทั้งนั้น ทำให้อุตสาหกรรมกวดวิชาเติบโตจนมีมูลค่าเกือบ 8,000 ล้านบาท โดยครูกวดวิชาชั้นนำของฮ่องกงสามารถทำเงินได้ถึงปีละ 60 ล้านบาทเลยทีเดียว
หนึ่งในครูกวดวิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในฮ่องกงได้แก่ โทนี โจว ติวเตอร์วิชาภาษาอังกฤษของ Modern Education สถาบันกวดวิชาชั้นนำของฮ่องกง แม้ฮ่องกงจะมีระเบียบให้แต่ละห้องสอนมีผู้เรียนไม่เกิน 45 คน แต่คลาสของเขาแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการแบ่งแต่ละห้องด้วยกำแพงกระจกที่ผู้เรียนสามารถดูการสอนของเขาได้ รวมถึงการถ่ายทอดวิดีโอไปยังห้องเรียนอื่นๆ ในอีก 14 สาขาพร้อมกัน และการใช้ WeChat แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในการบันทึกการออกเสียงของผู้สอน เพื่อให้นักเรียนออกเสียงคำศัพท์ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น
เทคนิคการสอนอันหลากหลายของโจว ทำให้นักเรียนไม่น้อยคิดว่ามีส่วนสำคัญทำให้พวกเขาทำคะแนนสอบได้มากขึ้น ซึ่งบางรายถึงขนาดคิดว่าเทคนิคการช่วยจำของติวเตอร์เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่หาไม่ได้ในโรงเรียนของพวกเขาเอง โดยโทนี โจว ยอมรับว่าแม้จะมีการรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการเรียนมากกว่าการทำคะแนนสูงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตราบที่มหาวิทยาลัยยังใช้วิธีคัดนักศึกษาจากคะแนนสอบ เทคนิคที่ช่วยให้ผู้สอบทำคะแนนได้สูงที่สุดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเรียนการสอนในวันนี้
ในช่วงเปิดการศึกษาของฮ่องกงแต่ละครั้ง บรรดาภาพโฆษณาติวเตอร์ชื่อดังจะพบเห็นได้ทั่วไปตามที่สาธารณะ ตั้งแต่ป้ายบิลบอร์ด, โฆษณาบนหนังสือพิมพ์ จนถึงโฆษณาบนรถประจำทาง โดย เดสมอนด์ ม่าย ผู้อำนวยการด้านการตลาดของสถาบัน Modern Education กล่าวว่า ขณะที่ติวเตอร์แต่ละแห่งมีความสามารถในการสอนที่เท่าเทียมกัน การส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ติวเตอร์ของสถาบันดูดี ถือเป็นการสร้างความได้เปรียบในวงการที่มีการแข่งขันกันสูงเช่นนี้