กสม.เข้าชี้แจงกรณีเหตุรุนแรงหน้า ม.รามคำแหง
หลังคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน ได้จัดประชุม เพื่อหาข้อเท็จจริง กรณีเหตุความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ 29-30 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล
น.พ.นิรันดร์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ตำรวจได้ให้ข้อมูลถึงเรื่องการตรวจพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต การเผารถบัส และการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ แต่เห็นว่า การเข้าปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ชัดเจน หลังจากนี้ จึงจะต้องเชิญผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เจ้าของพื้นที่ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
โดยเฉพาะในประเด็นการเพิ่มกำลังตำรวจที่จะเข้าไปดูแลความปลอดภัย และเหตุความรุนแรงจากเดิมที่มี 5 กองร้อย เพิ่มเป็น 10 กองร้อย แต่กลับไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือนักศึกษารามคำแหงให้ออกมาได้ โดยเบื้องต้น ตำรวจยืนยันว่า ขณะที่เกิดเหตุนั้นมีความรุนแรงจนไม่อำนาจนำกำลังเข้าไปช่วยเหลือนักศึกษาได้
ด้านนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยืนยันว่า การชุมนุมของนักศึกษาเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นไปโดยสันติวิธี ต้องการแสดงความเห็นที่แตกต่างในทางการเมือง และยืนยันว่า ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่มีการใช้อาวุธแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ก็ได้เปิดเผยข้อมูลว่า นอกจากนักศึกษาถูกยิงเสียชีวิต 1 คน ยังมีอีก 10 คนที่บาดเจ็บจากกระสุนปืน และบาดเจ็บอื่นๆ อีก 30 คน โดยระหว่างการชุมนุมของนักศึกษา ก็ได้ประสานไปยัง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขอให้ตำรวจเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้กับนักศึกษา และประสานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดเหตุความรุนแรง แต่ก็ไม่มีตำรวจเข้ามาดูแล จนต้องประสานขอความช่วยเหลือไปยังทหาร ทำให้สามารถช่วยเหลือนักศึกษารามออกมาได้
ส่วนกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญธรรมไทย ยื่นขอให้กรรมการสิทธิฯ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า การจัดตั้งสภาประชาชนชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น
เดิมอนุกรรมการฯ มีแผนที่จะเชิญนักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลในวันนี้ (13 ธ.ค.) แต่เนื่องจากบางคนติดภารกิจ จึงต้องเลื่อนไปประชุมในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค. แทน ซึ่งเมื่อมีการประชุมแล้วก็จะเร่งดำเนินการสรุปเสนอต่อที่ประชุมกรรมการสิทธิฯ เพื่อมีมติเห็นชอบ ก่อนยื่นเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญต่อไป