รองโฆษกกองทัพบกย้ำ
รองโฆษกกองทัพบกชี้แจงว่า กองทัพบกวางตัวเป็นกลางในสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมแนะนำให้แก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธี ขณะที่กระทรวงกลาโหม ยืนยันจุดยืน 3 แนวทางตามที่ปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุในงานเสวนาที่รัฐบาลจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
หลังจากที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวชี้แจงถึงท่าทีของกองทัพในการประชุมเสวนาในเรื่อง "ประเทศไทยของเรา จะไปทางไหน" เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว หรือข้อสรุปที่ได้จากทุกเหล่าทัพ
กรณีนี้พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำจุดยืน 3 แนวทาง คือ ในการพิทักษ์และรักษารัฐธรรมนูญ การดำเนินการใดๆ ก็ตามจะคิดและปฏิบัติในกรอบตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยกองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง และพร้อมจัดกำลังพลดูแลให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ถูกต้อง ยุติธรรม ซึ่งเรื่องที่ชี้แจงทั้งหมดเป็นข้อมูลที่มาจากข้อสรุปของการเสวนาสาธารณะเพื่อความสงบสุขและประโยชน์สูงสุดของประเทศ ณ กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่มีการแถลงโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพ
โฆษกกระทรวงกลาโหมยังเปิดเผยด้วยว่า ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความขอบคุณกลุ่มนายทหารนอกราชการที่ภักดีต่อสถาบัน และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองและกองทัพ ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ยังยืนยันในอุดมการณ์เดิม แต่การนำกำลังพลของกองทัพเข้าไปสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งนั้น ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำเรื่องเสนออีกครั้ง
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงความห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต่อสถานการณ์บ้านเมืองว่า ปัจจุบันกองทัพคิดเพียงว่า จะทำอย่างไร สถานการณ์ความขัดแย้งจะไม่ขยายตัว ลุกลามจนเกิดสงครามประชาชนเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ
สำหรับความคิดเห็นทางการเมือง ทุกคนสามารถเห็นต่างได้ แต่ต้องหาข้อยุติให้ได้ด้วยสันติวิธี ควรใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพื่อให้กลไกของรัฐสามารถทำงานได้ ภายใต้กรอบกฎหมาย ความชอบธรรม พร้อมด้วยจริยธรรม และคุณธรรม หลักการ คือ ทุกฝ่ายควรพอใจและยอมรับในกติกา หรือตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ ไม่ควรละเมิดหรือกล่าวโทษกันไปมา จนหาข้อยุติไม่ได้ เพราะหากระบบและกติกาถูกทำลายจนเสียหายหมด จะไม่มีอะไรให้ยึดถือและสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ
สำหรับการดำเนินการของกองทัพจะต้องวางตัวอยู่ในจุดที่สมดุล และเหมาะสม ไม่ขัดต่อหลักการของกองทัพที่ต้องส่งเสริมให้คนไทยในประเทศมีความรัก และสามัคคีกัน โดยกองทัพยังคงเป็นทหารของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนอยู่เสมอและจะยังเคารพในความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่ายด้วย
ขณะเดียวกันก็มีรายงานจากนายทหารคนสนิทของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่เปิดเผยว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไม่ได้ระบุว่า จะต้องมีการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
ส่วนกรณีที่ปลัดกระทรวงกลาโหม ไปร่วมเสวนาเวทีเสวนาที่รัฐบาลจัดขึ้น ซึ่งได้ไปยืนยันว่า กองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง พร้อมจัดกำลังพลดูแลให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม กรณีนี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รู้สึกไม่สบายใจ อยากให้มีการพิจารณาให้รอบคอบ และอาจต้องถือว่า เป็นความเห็นของปลัดกระทรวงกลาโหมเพียงคนเดียว ไม่ใช่ความเห็นของกองทัพทั้งหมด เพราะกองทัพประกอบด้วยกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ จะแสดงออกอย่างเป็นเอกภาพ และเป็นแนวทางเดียวกัน