แม้มีเหตุการณ์ความวุ่นวายบริเวณสถานที่รับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่มีเหตุรุนแรง แต่เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน เห็นตรงกันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตอกย้ำภาวะความแตกแยกในบ้านเมืองอย่างร้าวลึก จึงจำเป็นต้องปฏิรูประเทศทันที
โดยรัฐบาลรักษาการสามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ จัดตั้งองค์กรปฏิรูปประเทศ โดยอาจออกเป็นพระราชกำหนดมารองรับการทำงาน เพื่อสร้างการยอมรับ และความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย หลังประเมินว่า การลงสัตยาบันของพรรคการเมือง อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยไม่ขอก้าวก่ายกระบวนการการเลือกตั้ง ที่กำลังดำเนินอยู่
สำหรับต้นแบบโครงสร้างองค์กรปฏิรูปประเทศตามข้อเสนอนี้ 7 องค์กรภาคเอกชน ยังไม่กำหนดชัดเจน แต่เห็นว่า ควรมีตัวแทนทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง คู่ขัดแย้ง และองค์กรวิชาชีพ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ด้วย โดยองค์กรปฏิรูปจะทำงานคู่ขนานกับรัฐบาลรักษาการ หรือผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อไม่ให้การบริหารราชการหยุดชะงัก แต่รัฐบาลไม่มีอิทธิพลต่อการทำงานขององค์กรดังกล่าว
ที่ประชุม 7 องค์กรเอกชนได้อ้างอิงถึงแนวทางปฏิรูปประเทศ ของ นพ.ประเวศ วสี นักวิชาการ และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งควรต่อยอดเป็นพิมพ์เขียวจัดตั้งองค์กรปฎิรูปประเทศ
โดย นพ.ประเวศ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ด้วยสภาพความเป็นจริง ทั้งเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาและเห็นว่ายังมีแง่ดีคือทุกฝ่ายต่างใช้สันติวิธีและแม้ปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาจะมีความซับซ้อน แต่ก็สามารถหาทางออกได้ หากมีการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่า ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ จะไม่นำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นสงครามกลางเมือง เพราะประเทศไทยได้ผ่านความขัดแย้งจุดนั้นมาแล้ว