มุมมองที่แตกต่างของการประท้วงในโลกอาหรับ
ซูวาด มาสซี นักร้องหญิงชาวอัลจีเรีย กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการดนตรีโลกอาหรับ เมื่อผลงานอัลบั้มล่าสุดเมื่อปีที่แล้วอย่าง O Houria ซึ่งมีความหมายว่าอิสรภาพ วางจำหน่ายออกมาเพียง 3 เดือนก่อนปรากฏการณ์ Arab Spring หรือการประท้วงที่เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองของโลกอาหรับหลายประเทศ เธอยังได้นำสาส์นแห่งความหวังนี้มายังหนุ่มสาวมุสลิมในดินแดนปาเลสไตน์ในเทศกาลดนตรี Palestine International Festival
ซูวาด มาสซี ลี้ภัยมายังฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1999 หลังผลงานเสียดสีการเมืองของเธอนำมาซึ่งคำขู่ฆ่าระหว่างอาศัยอยู่ในอัลจีเรีย บทเพลงที่ผสมผสานความหลากหลายทางภาษาร้องและภาษาดนตรีส่งให้ชื่อเสียงของเธอมาสู่ผู้ฟังในตะวันออกกลาง ซึ่งเนื้อหาในผลงานล่าสุดกล่าวถึงการถูกกดขี่ของสตรีมุสลิมในแอฟริกาเหนือและการเหยียดเชื้อชาติในฝรั่งเศส
เธอบอกว่าประสบการณ์ที่ได้พบปะกับเหล่าคนรุ่นใหม่ จิตวิญญาณและความปรารถนาต่อการเปลี่ยนแปลงทำให้เธอมั่นใจว่าการประท้วงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในปาเลสไตน์ในไม่ช้าเช่นกัน
การใช้กฎหมู่เป็นวิธีแก้ปัญหา กำลังสร้างความกังวลในประเทศอันเป็นต้นกำเนิดของกระแสการประท้วงในโลกอาหรับอย่างตูนิเซีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการจับกุมชายฉกรรจ์ 26 ที่รวมตัวกันทำลายโรงหนังในเมืองตูนิสที่ฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Ni Dieu, Ni Maitre ที่มีความหมายว่า ไม่มีพระเจ้า ไม่มีเจ้านาย มาซึ่งการชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงยุติธรรมโดยกลุ่มมุสลิมนิกายซาลาฟี
ชัยชนะของการประท้วงในตูนิเซียถูกมองเป็นการฟื้นฟูอิสลามในประเทศซึ่งการแสดงออกทางศาสนาถูกจำกัดมากว่า 23 ปี แต่กลุ่มฆราวาสนิยมในประเทศมองว่าความรุนแรงครั้งนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มนิยมใช้รุนแรงเพื่ออ้างความชอบธรรมในการโจมตีคนที่มีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่าง
ผู้นำพรรคมุสลิม Salafist Tahrir ที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการจู่โจมโรงภาพยนตร์กล่าวว่าชื่อของภาพยนตร์แสดงนัยยะว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง ซึ่งถือเป็นการประกาศสงครามของกลุ่มฆราวาสนิยมต่อมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่ นาเดีย เอล ฟานี ผู้กำกับของสารคดีเผยว่าผลงานของเธอเป็นเหมือนตัวแทนความหลากหลายทางความเชื่อในตูนิเซีย ที่ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการแสดงออกทางทางศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน แม้แต่คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอย่างเธอ