จิตแพทย์แนะวิธีเลี่ยงภาวะความเครียดจากการเมือง
การโต้เถียงกันบนเฟซบุ๊คหรือโซเชียลมีเดียด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน บางประเด็นใช้ถ้อยคำรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากกำลังสนใจการเมืองจริงจังมากขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่ามีอารมณ์ร่วม มากเสียจนเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว
กรมสุขภาพจิต ระบุว่าปัจจุบันเกิดกลุ่มอาการใหม่ของปัญหาสุขภาพจิต จากภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง เรียกว่า Political Stress Syndrome หรือ PSS ซึ่งไม่ใช่โรค แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ และจิตใจ โดยคนไทยเกิดอาการชัดเจนที่สุดในรอบ 30 ปี และเกิดกับประชากร 1 ใน 4 ของประเทศ โดยเฉพาะช่วงก่อน และหลังวันเลือกตั้งมีประชาชนจำนวนมากคาดหวัง และเป็นกังวลกับผลการเลือกตั้ง หากพรรคที่ตัวเองชื่นชอบไม่ชนะการเลือกตั้งก็อาจเกิดความเครียด และอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ถ้าแสดงความคิดเห็นกันโดยขาดสติ
นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่มีอารมณ์ร่วมมากเกินไปทำให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว สังเกตดูว่าพอมีอารมณ์ร่วมมากเกินไปพวกที่เราเลือกแพ้ คืนนั้นนอนไม่หลับ ชักปวดหัว ใจสั่น มึน คิดอะไรไม่ค่อยออก นอนหลับฝันร้าย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนตามมา หลายคนเป็นโรคกระเพาะตามมา เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าความเครียดไม่เกิดอะไร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดอาการทางร่างกายตามมาจำนวนมาก
ส่วน นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตวัยรุ่น กล่าวว่า ทุกวันนี้เยาวชนหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เมื่อเสพข่าวแล้ว ก็จะแสดงความคิดเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียทันทีโดยไม่ทันยั้งคิด
แม้การติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นเรื่องจำเป็น เพราะประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และผลักดันให้การบริหารประเทศไม่ตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่การติดตามทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด ก็อาจหลีกเลี่ยงภาวะเครียดได้ยาก แพทย์จึงแนะนำให้เสพข่าวสารพอประมาณ ไม่ควรมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากเกินไป โดยหันไปให้ความสนใจกับเรื่องอื่น และพักผ่อนบ้าง เช่นฟังเพลง ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฝึกโยคะ ถ้ามีความเครียดรุนแรง หรือมีอาการเกิน 1 สัปดาห์ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ และการแสดงความคิดเห็นอย่างขาดสติก็อาจนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงและความแตกแยกตามมาได้