กรมอุทยานฯ เปิดเวทีฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.สัตว์ป่าฯ หวังผ่านในรัฐบาล คสช.
วันที่ 22 พ.ค.2558 สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจัดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... ครั้งที่ 2 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และองค์กรเอกชน เข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คน ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น กรุงเทพฯ
นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หนึ่งในทีมวิจัยร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ... พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ... และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ.... ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า มีความกังวลต่อ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ฉบับนี้ เนื่องจากทั้งแนวคิดและหลักคิดต่างจากร่างกฎหมายที่ทีมวิจัยนำเสนอเป็นอย่างมาก เช่น การเพิ่มจำนวนประเภทของสัตว์ป่าที่กฎหมายให้ความคุ้มครองมากกว่า 4 ประเภท ซึ่งที่กำหนดไว้แต่เดิมคือ สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และสัตว์ป่าควบคุม รวมไปถึงการแยกหน่วยงานรับผิดชอบสัตว์ป่าแต่ละประเภท ตั้งแต่พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือแม้แต่ประกาศของรัฐมนตรี ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะก่อให้เกิดการล่า ค้าและฆ่าสัตว์ป่าได้ง่ายกว่าเดิม อีกทั้งในหลายมาตรายังมีความหละหลวม
นายคมสันกล่าวต่อว่า เป็นเรื่องยากที่จะออกกฎหมายฉบับนี้มาได้ และอาจใช้เวลานานถึง 15 ปี ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 10 ปีแล้ว ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น เพราะมีทั้งกระแสคัดค้าน กระแสสนับสนุน และกระแสที่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่างพ.ร.บ.ฯ แต่ที่มากไปกว่านั้น คือมูลค่าของตลาดค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยที่สูงนับหมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลแล้ว ยังมีกลุ่มนักการเมืองก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงคาดว่ากว่าจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้จริง เร็วที่สุดก็ 1 ปีนับจากนี้ และอาจยืดเยื้อไปถึง 2-3 ปี
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความคิดเห็นหลังเข้าร่วมอภิปรายกลุ่มเพื่อรับฟังความคิดเห็นว่า เข้าใจว่าการทำกฎหมายเรื่องสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่ยากในแง่การปฏิบัติ แต่อยากให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบใส่ใจในรายละเอียด และควรรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง เพราะแต่ละภาคส่วนมีข้อกังวล มุมมอง และเทคนิคการจัดการปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งที่หลายฝ่ายออกมาทักท้วงเพราะไม่แน่ใจว่าผลกระทบที่จะตามมาด้านไม่ดีมีอะไรบ้าง และจะมากขนาดไหน ส่วนข้อดีของร่าง พ.ร.บ.ฯ ก็มีให้เห็น
“ผมยังยืนยันคำเดิมคือ มีความกังวลในเรื่องการบริหารพื้นที่ในป่าอุทยานฯ ที่ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับใหม่เปิดช่องให้มีการท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ในขั้นตอนการร่างระเบียบปฏิบัติ แน่ใจว่ากลุ่มข้าราชการที่มีอำนาจจะร่างข้อกำหนดที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองอย่างแน่นอน ฉะนั้นหากเป็นไปได้ ถ้ากฎหมายล้าหลังจุดไหนก็ควรแก้เฉพาะมาตรานั้น หรือแก้ในทางปฏิบัติ ไม่ควรหยิบมาแก้ทั้งฉบับแบบนี้ ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวและว่า ยินดีที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะเชิญไปร่วมหารือระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.ฯ อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา เพื่อให้กฎหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของตนอยู่แล้ว
นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกต่อการเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากยังมีขั้นตอนรับฟังจากกลุ่มย่อย และกระบวนการเพื่อออกเป็นกฎหมายมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยในการจัดการ และยืนยันว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นต่อการหยิบร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาดำเนินการ ส่วนข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วนที่เสนอมานั้น จะนำไปปรับใส่ในร่าง พ.ร.บ.ฯ ตามความเหมาะสม
แหล่งข่าวจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าระบุว่า คาดว่าการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเล็งเห็นว่าการเปิดรับฟังต่อไป ไม่ก่อเกิดประโยชน์ เนื่องจากต่างคนต่างความคิดเห็นและคงไม่จบ ซึ่งหลังจากนี้จะเปิดรับฟังเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำร่าง พ.ร.บ.ขึ้นบนเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการรวบรวมและบรรจุข้อท้วงติงใส่ในร่าง พ.ร.บ.ฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกรมอุทยานฯ เพื่อส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่มีคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเช่นเดียวกัน หากผ่านก็ส่งให้รัฐมนตรีว่าการ ก่อนเข้าสู่กระบวนการการออกเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
“มีความตั้งใจอยากให้กฎหมายนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเมืองที่มักมีเอี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าหรือมีพื้นที่ทับพื้นที่อุทยาน ซึ่งเชื่อว่าจะได้กฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และมีความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามอยากให้เข้าใจความหมายของการอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าสิ่งที่ทำไปเป็นการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน คือเดินหน้าไปพร้อมกันทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่สามารถเน้นการอนุรักษ์อย่างเดียวได้ เช่น การค้านกนางแอ่นกินรัง หรือหนังงูที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง ซึ่งประเทศไทยกำลังเสียดุลการค้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่น้อย” แหล่งข่าวจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ มีภาคประชาชน กลุ่มธุรกิจ และเอ็นจีโอ ต่างทักท้วงการทำงานของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและกรมอุทยานฯ ถึงความไม่ตรงไปตรงมาในการเปิดเวที ซึ่งหลายครั้งแจ้งให้สังคมรับทราบก่อนวันจัดงานเพียงวันเดียว และใช้ช่องทางการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์น้อย ส่งผลให้ข้อคิดเห็นไม่ได้มาจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่สัตว์ป่าและป่าไม้เป็นสมบัติของทุกคนในชาติ
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... มีที่มาจากการปรับปรุง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยการปรับปรุงครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 2548 มีการรับฟังความคิดเห็นจากสังคม 4 ครั้ง และหยิบมารับฟังความคิดเห็นอีก 3-4 รอบในปี 2551 จนปัจจุบันปี 2558 มีการนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาหารือเพื่อผลักดันออกเป็นกฎหมาย โดยมีการเปิดรับฟังทั่วประเทศครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ประชาชนจะได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้
สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน