<"">
วงเสวนาของนักกฎหมายระหว่างประเทศชี้ การถอนตัวไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและอาจมีผลต่อการพิจารณาของศาลโลก ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ ยังเชื่อว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาในรูปแบบใด แต่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา
การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ เกี่ยวกับกรณีที่กัมพูชายื่นเรื่องต่อศาลขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวปราสาทพระวิหาร และให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทรอบปราสาทโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงห้ามเคลื่อนไหวหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการแทรกแซงกัมพูชา กรณีนี้ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิเสธที่จะคาดการณ์ผลการพิจารณาของศาลโลก แต่ระบุถึงความเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ ศาลโลกรับคำร้องกัมพูชาและออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว หรือศาลโลกเห็นว่า การพิจารณาอยู่นอกเหนืออำนาจของศาล ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว และแนวทางสุดท้ายคือ อาจมีคำสั่งให้ไทยและกัมพูชาปฏิบัติตามภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน ซึ่งการดำเนินการของไทยก็ต้องย้ำว่า การพิจารณาครั้งนี้ต้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะไม่อยู่ในอำนาจในการพิจารณาของศาล
ส่วนกรณีที่กัมพูชายื่นขอให้ศาลโลกมีการตีความคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ในชั้นนี้ ศาลยังไม่มีการนัดให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าให้ข้อมูลใดๆ ซึ่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเชื่อว่า กรณีนี้น่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา 1-2 ปี
สำหรับความพร้อมของกระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลกรณีนี้ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ พร้อมด้วยทีมงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, กรมแผนที่ทหาร, อัยการสูงสุด, กรมศิลปากร และกองทัพ จะเดินทางไปรับฟังคำพิพากษาที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยจะออกเดินทางในวันที่ 16 ก.ค.นี้ เพื่อรับฟังการพิจารณาในวันที่ 18 ก.ค. เวลา 10.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 15.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย
ส่วนทางฝ่ายกัมพูชา มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา จะเดินทางไปรับฟังการพิจารณาด้วยตัวเอง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่า กองทัพยังคงรักษาอธิปไตยของไทยอย่างเข้มแข็งตามพันธกิจหลัก และยังวางกำลังอยู่ที่จุดเดิมไม่มีการเคลื่อนย้ายกำลัง ขอให้ทุกฝ่ายอย่ากังวลใจต่อการทำหน้าที่ของกองทัพ ซึ่งหากจะมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องสั่งการลงมา
ส่วนกรณีความห่วงใยต่อผลการพิจารณาของศาลโลกในครั้งนี้ วงเสวนานักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกันคือ การถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกของไทยอาจมีผลเสียต่อการพิจารณาของศาลโลก ซึ่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ มองว่า การตัดสินใจถอนตัวอาจทำให้ไทยเสียประโยชน์ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่พิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง เนื่องจากไทยยังไม่ได้ส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแจ้งไปยังคณะกรรมการมรดกโลกอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ในวงเสวนาของนักวิชาการยังมองว่า รัฐบาลชุดใหม่ต้องจับตาดูท่าทีของกัมพูชาหลังมีคำตัดสินของศาลโลกออกมา ซึ่งจะเป็นการสะท้อนแนวทางในการแก้ปัญหา ส่วนการดำเนินการของรัฐบาลนั้น ต้องรักษาระยะห่างระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรีไว้ เพราะแม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นมิตรกับกัมพูชา แต่รัฐบาลก็อาจถูกกล่าวหา และนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น